เนื้อหาวันที่ : 2010-11-22 09:22:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 643 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 15-19 พ.ย. 2553

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,230.7 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 36.0 พันล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 42.3 ของ GDP ทั้งนี้ การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง  หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 


และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) โดยลดลงสุทธิ 26.0 6.3 และ 4.2 พันล้านบาท ตามลำดับ  ซึ่งสะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP


ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ต.ค. 53 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 207.4 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 129.6 ต่อปี เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 53 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 52 ส่งผลให้เบิกจ่ายได้เฉพาะรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วเท่านั้น


ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 194.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.4 ของกรอบวงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท  ในขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 190.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 139.0 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 4.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือนต.ค. 53 ได้แก่


รายจ่ายชดใช้เงินคงคลังจำนวน 30.3 พันล้านบาท รายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 27.7 พันล้านบาท และรายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 18.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่  12 พ.ย. 53 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้น 242.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 69.1 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท


ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 53  ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -85.0 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -22.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลขาดดุลจำนวน -107.9 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 16.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินขาดดุลจำนวน   -92.0 พันล้านบาท ทำให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับสูงถึง 337.4 พันล้านบาท
 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนต.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 100.8 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ มิ.ย. 53 ที่ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 อีกด้วย โดยมีสาเหตุจากเงินบาทที่แข็งค่าสูงสุดในรอบ 13 ปี และปัญหาอุทกภัยใน 39 จังหวัดทั่วประเทศ


ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ประสบภัยผลิตสินค้าไม่ทันตามคำสั่งซื้อ รวมถึงผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนอยู่ที่ระดับ 110.1 ปรับตัวลดลงจากเดือน ก.ย. 53 ที่อยู่ที่ระดับ 114.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยยังมีค่าดัชนีฯ สูงกว่าระดับ 100 แต่ยังคงมีสัญญาณว่าผู้ประกอบการยังคงกังวลกับปัจจัยเสี่ยงในอนาคตที่มีอยู่