เนื้อหาวันที่ : 2010-11-18 11:09:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 654 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 18 พ.ย. 2553

1. บาทแข็ง-น้ำท่วมฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค.

-  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 2553  อยู่ที่ 98.7  ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 100.8  ซึ่งถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3  โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าสูงสุดในรอบ 13 ปี  การเกิดอุทกภัย 39 จังหวัดทั่วประเทศ  ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น  และความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.53 ที่ปรับตัวลดลง  มีสาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบของอุทกภัยและวาตภัยที่ทำให้ผลิตผลสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรได้รับความเสียหายและยังส่งผลต่อการจัดส่งสินค้าอุตสาหกรรม  ทำให้ผู้ประกอบการมีความวิตกกังวลต่อต้นทุนการประกอบการที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามมา  ซึ่ง สศค. คาดว่า GDP ของปี 53 ลดลงร้อยละ -0.13 ถึง -0.29  ต่อปี  จากกรณีฐาน

.

นอกจากนี้  อุตสาหกรรมการส่งออกไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก  กอปรกับการได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง  (ค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือน ต.ค. อยู่ที่ 29.93 บาท  แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า)  ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีปัญหาน้ำท่วมและค่าเงินบาทที่แข็งค่า  สศค. ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 7.3 – 7.8 ต่อปี

.

2. บีโอไอเผย 10 เดือนออสเตรเลียลงทุนในไทยขยายตัว 10 เท่า

-  รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าหลังจากที่เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 48 ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียขยายตัวถึง 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 10 เดือนของปีนี้ บีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากออสเตรเลียจำนวน 16 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 6,071 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากเมื่อกับปีที่ผ่านมามีประมาณ 546 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 53 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลียมีมูลค่า 366,648.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 20.25 โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลียมูลค่า 231,844.61 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.05 และนำเข้าจากออสเตรเลีย 134,804.32 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.05

.

ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 97,040.29 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปออสเตรเลีย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) อัญมณีและเครื่องประดับ (3) เหล็กและเหล็กกล้า

.

จากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียทำให้ไทยได้ประโยชน์จากอัตราภาษีสินค้านำเข้าออสเตรเลียในหมวดรถยนต์ รถปิกอัพและรถบรรทุกจากอัตราภาษีที่เหลือร้อยละ 0  ซึ่งอนิสงค์จากข้อตกลงดังกล่าวช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวของไทยให้สูงขึ้น ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดในระยะถัดไป

.

3. ธนาคารกลางเกาหลีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

-  สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าธนาคารกลางเกาหลีได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.5 (เดิมที่ในอัตราร้อยละ 2.25)  สืบเนื่องจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.1 ณ เดือน ต.ค. 53 ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้น ของราคาอาหาร

.

ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีอยู่ในระดับสูงในช่วงไตรมาส 2 ที่ร้อยละ 7.1 นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อจูงใจให้เกิดการออมเพิ่มขึ้น

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเกาหลีเป็นผลมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 53 ปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 53 ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลี ซึ่ง GDP ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 53 เกาหลีขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี

.

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะมีผลต่อการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินวอนแข็งค่าเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อการส่งออกในที่สุด ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีในปี 53 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.2 ต่อ

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง