เนื้อหาวันที่ : 2010-11-18 08:44:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 564 views

คลังเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษี

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา “ปฏิรูปภาษี สร้างธุรกิจ สู่ไทยเข้มแข็ง” ว่า ในการประชุมร่วมกับอธิบดีด้านกรมจัดเก็บภาษีของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะนำรูปแบบการจัดเก็บภาษีของประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย มาปรับใช้ในประเทศไทย

.

ในส่วนของไทยนั้น นายสาธิต กล่าวว่า ได้มีการศึกษาหลายแนวทางเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังพิจารณา แต่โดยหลักการแล้วภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปรับในทิศทางสอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้นในการดำเนินธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการจดทะเบียนนิติบุคคลย้ายไปเป็นบุคคลธรรมดา หรือย้ายไปมาระหว่างสองประเภทได้ 

.

อีกทั้งยอมรับว่า หากมีการลดภาษีทั้งสองประเภทรายได้รัฐจะหายไปในทันที และรายได้ภาษีจะค่อย ๆ กลับคืนมาสู่รัฐสำหรับนิติบุคคลต้องใช้เวลา 3 ปี สำหรับบุคคลธรรมดาต้องใช้เวลา 6 ปี ขณะที่ฐานภาษีที่ขยายออกไปจะค่อย ๆ จางหายไปเหมือนกับคลื่นน้ำเมื่อกว้างออกไป

.

อธิบดีกรมสรรพากร คาดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอข้อสรุปในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีได้ทั้งหมดภายในปีนี้ จากนั้นจะเริ่มมีข้อสรุปชัดเจนในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่เห็นว่าหากมีการปรับเปลี่ยนภาษีจะกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล 

.

เช่น หากปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงร้อยละ 1 จะส่งผลต่อรายได้ภาษีรัฐบาลให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงประมาณ 60,000 ล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากปรับเปลี่ยนร้อยละ 1 ส่งผลต่อรายได้รัฐบาลประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท จึงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในระดับนโยบาย และต้องเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนด้วย

.

สำหรับภารกิจของกรมสรรพากรจากนี้ไป บทบาทไม่ใช่เพียงเพื่อการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐเท่านั้น แต่ต้องปรับองค์กรเพื่อเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน จากเดิมรัฐบาลมักส่งเสริมแต่การพัฒนาวิจัย เพื่อให้นำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะได้ประโยชน์เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่รายย่อยจะไม่ได้ประโยชน์ จึงเห็นว่าหากธุรกิจรายย่อยและเอสเอ็มอีปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สั้นลง ให้ทันกับระบบยุคใหม่        

.

การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ การพัฒนาระบบไอที เพื่อความสะดวกขององค์กร การปรับปรุงคุณภาพสินค้า เพื่อให้แข่งขันและก้าวทันกระแสโลก ค่าใช้จ่ายเหล่านี้กรมสรรพากรกำลังศึกษาเพื่อให้นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว แนวทางดังกล่าวสิงคโปร์นำมาใช้เป็นนโยบายหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อให้เอกชนปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก

.

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภารกิจของกรมสรรพสามิตต้องปรับเปลี่ยนไปดูแลสิ่งแวดล้อมและทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญ จึงเตรียมเสนอกระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีตามรายสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้ชัดเจน

.

เช่น ในช่วงที่ผ่านมาได้จัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์ 2 จังหวะ และ 4 จังหวะ ในอัตราภาษีแตกต่างกัน จนทำให้ขณะนี้รถจักรยานยนต์ 2 จังหวะเกือบหมดไปในตลาดแล้ว อีกทั้งการเก็บภาษีน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วต่างกับน้ำมันมีสารตะกั่ว ในช่วงที่ผ่านมา  

.

จนทำให้ไม่มีน้ำมันไร้สารตะกั่วในตลาดแล้ว จึงต้องการนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ในการจัดเก็บภาษีกับสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งขณะนี้เห็นว่าการจัดเก็บภาษีสินค้าสรรพสามิตหลายประเภทมีรายได้น้อยเพียง 10-20 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 18 ประเภท จึงต้องการหารือกับปลัดกระทรวงการคลัง ว่าจะยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่ เพราะเห็นว่าภาษีสรรพสามิตของไทยมีจำนวนมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย