เนื้อหาวันที่ : 2007-02-26 14:34:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3204 views

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย หมู่บ้านและชุมชนเมือง จริงหรือ ?

ความสำคัญกับการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวหมู่บ้านและชุมชนเอง หรือการเอาหมู่บ้านและ

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวหมู่บ้านและชุมชนเอง หรือการเอาหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานั้นเอง ซึ่งเครื่องมือหลัก (Tools) ของภาครัฐคือเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการลงทุนสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชนและสร้างกิจการขนาดเล็กในครัวเรือน โดยโครงการที่ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมากนั้นคือ โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งทางผู้เขียนจะนำมาเป็นตัวอย่างวิพากษ์ถึงแนวคิดดังกล่าว

.

โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่หมู่บ้านหรือชุมชนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท ในลักษณะของเงินทุนหมุนเวียน โดยมีปรัชญาหรือหลักการสำคัญคือ

1.เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น

2.ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง

3.เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน

4.เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน ราชการ เอกชนและประชาสังคม

5.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน

.

เพื่อส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง ทำให้หมู่บ้านและชุมชนเมืองสามารถพัฒนาได้ ทั้งในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อการแก้ไขปัญหา เสริมสร้างศักยภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านและชุมชนเมือง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากฐานของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต โดยผู้กู้จะต้องเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง ซึ่งอาจเป็นกลุ่ม องค์กรชุมชน ปัจเจกบุคคลในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง โดยสมาชิกที่จะประสงค์จะขอกู้เงินจากกองทุนจะต้องจัดทำคำขอกู้โดยระบุวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินอย่างชัดเจนต่อคณะกรรมการกองทุนให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กองทุนกำหนด

.

จะเห็นได้ว่าตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้วน่าจะเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะการพัฒนาที่ดีควรจะเริ่มที่ระดับล่างให้มีความแข็งแกร่ง และการเริ่มพัฒนาประเทศจากระดับหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเป็นส่งเสริมการพึ่งตนเองสามารถทำให้เกิดการเพิ่ม Local Content ในการผลิตสินค้าภายในประเทศให้มากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบน้อยลงจากการเคลื่อนไหวขึ้นลงของเศรษฐกิจโลก (Import Content ลดลง) เมื่อเริ่มต้นอย่างนี้แล้วท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมสิ่งที่ปรากฏตามหน้าหนังสือถึงไม่ได้สื่อไปในทิศทางนี้เลย

.

จากการรวบรวมข้อมูลของผู้เขียนจากแหล่งต่าง ๆ และได้สรุปปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการ ทั้งนี้พบว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านนั้นกลับส่งผลกระทบโดยรวมในทางตรงข้ามโดยทำให้ปริมาณของหนี้สินระยะสั้นและหนี้สินโดยรวมของครัวเรือนในแต่ละหมู่บ้านเพิ่มขึ้น โดยการกู้ยืมของกองทุนหมู่บ้าน นั้นเป็นการกู้ยืมมาเพื่อบริโภคมากกว่าเป็นการใช้เพื่อการผลิต (ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ) โดยทุก ๆ 1 บาทของหนี้จะเป็นหนี้เพื่อการบริโภคระหว่าง 0.35-0.81 บาท (จากรายงานปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบจากโครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทของรัฐบาลไทยของศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอ็ม.ทาวน์เซนด์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา พิธีลงนามการจัดตั้งศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโก-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ในรายงานผลการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่ามีการกู้เพื่อนำมาใช้ลงทุนในการเกษตรมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการลงทุนในการเกษตรไม่ก่อให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ในครัวเรือน และอีกผลกระทบหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ หนี้สินที่กู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านจะทำให้เกิดการกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้นอกระบบมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากครัวเรือนในหมู่บ้านจำเป็นต้องนำเงินดังกล่าวมาใช้หนี้คืนกองทุนหมู่บ้าน และส่วนหนึ่งชาวบ้านไปกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) คาดหวังว่าเมื่อเป็นลูกหนี้ที่ดี คือใช้หนี้คืนตามกำหนดเวลา ก็หวังว่าจะสามารถมีโอกาสกู้เงินครั้งต่อไปได้ วนเวียนเป็นดินพอกหางหมูกันไม่สิ้นสุด สิ่งที่เพิ่มขึ้นอีกประการคือ ชาวบ้านที่เล่นหวยใต้ดิน หวยบนดิน ก็เล่นกันเพิ่มขึ้น เพื่อความหวังว่าจะได้เงินก้อนใหญ่มาล้างหนี้สิน

.

นอกจากนี้การวิจัยพบว่า เงินกองทุนหมู่บ้านส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ในอนาคตของครัวเรือน ทำให้สินทรัพย์ลดน้อยลง แต่เพิ่มระดับการบริโภคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งในกรณีนี้สามารถตีความได้ว่า การที่มีปริมาณสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นทำให้ความเสี่ยงในการบริโภคลดน้อยลง ทำให้ครัวเรือนไม่จำเป็นต้องสะสมสินทรัพย์เพื่อเผื่อเหลือเผื่อขาดมากเหมือนก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น ยังอาจตีความได้ด้วยว่า ครัวเรือนนำเอาเงินที่กู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้จ่าย (ในส่วนที่ไม่ใช่การลงทุน) และถูกภาวะหนี้สินบังคับให้ต้องขายสินทรัพย์ เพื่อนำมาชำระหนี้คืน หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฟองสบู่เศรษฐกิจครั้งใหม่จะเริ่มขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่คราวนี้มันจะลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และระดับรากหญ้า และถึงแม้ว่าในแง่ของตัวเลขแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพราะมีการปล่อยกู้ถึง 7 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของวงเงินขอกู้ทั้งหมด และดูจากบัญชีรับจ่าย ที่ชาวบ้านนำเงินมาคืนครบถ้วนตามกำหนด เรียกว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในเชิงของเป้าหมายการให้ชาวบ้านได้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ซึ่งย่อมเป็นนโยบายที่ถูกใจบรรดารากหญ้าที่ยึดติดกับการพึ่งพาภาครัฐ แต่หากเราคิดในอีกแง่หนึ่งโครงการนี้อาจทำให้เกิดวงจรหนี้วนเวียนชั่วลูกชั่วหลาน เข้าลักษณะกู้ของใหม่ เพื่อคืนของเก่า และในทางปฏิบัติจริงการดำเนินการต่าง ๆ ก็ไม่ได้เอื้อให้ชาวบ้านมีการพัฒนาแบบยั่งยืนบนขาของตัวเอง และหลุดพ้นจากวงจรนี้ไปได้ เพราะรัฐบาลขาดระบบการประเมินผลที่เป็นกลางและชัดเจนว่า เงินที่ใส่ไปในช่วงเวลาผ่านมา ชาวบ้านได้อะไรจากโครงการนี้ ไม่ได้มองให้ลึกซึ้งถึงวิธีการใช้เงินกู้เหล่านั้น เพราะปัจจัยที่บ่งชี้ว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านประสบผลสำเร็จ ไม่ใช่พิจารณาจากบัญชีรายรับรายจ่ายเท่านั้น เพราะประเด็นที่สำคัญคือการรู้ถึงกระบวนการนำเงินกู้ไปใช้ รวมทั้งเบื้องหลังการให้กู้ของชาวบ้านแต่ละรายนั้นสมาชิกในหมู่บ้านมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

.

การจัดเกรดของหมู่บ้านในการเพื่อพิจารณาให้สัดส่วนการให้เงินกู้ว่าหมู่บ้านใดเข้มแข็ง หรือไม่นั้น ต้องอยู่บนฐานของข้อมูลที่รอบด้าน ผ่านการประเมินในพื้นที่จริงอย่างเข้มข้น แต่ต้องตรวจสอบปัจจัยต่าง ๆ เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปใช้พิจารณาปล่อยเงินให้ลูกหนี้ ซึ่งจะดูจากแผนการขอกู้เงินของลูกหนี้เป็นหลัก ว่าโครงการนั้นคุ้ม หรือเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือไม่ หากเสี่ยงเกินไปก็ไม่ให้เงินกู้ เพื่อสร้างวินัยการใช้เงินให้ชาวบ้าน อย่าให้ชาวบ้านเป็นหนี้สะสมมากเกินไป ต้องสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น โครงการนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สะสม ดังนั้นวิธีการจัดการที่เหมาะสม เริ่มต้นจะต้องไม่เน้นการใส่วงเงินเข้าไปอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการพิจารณาถึงขีดความสามารถในการจัดการของแต่ละชุมชน โดยต้องเพิ่มองค์ความรู้เข้าไปด้วย เช่น ต้องสร้างการออมให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านติดการใช้เงินมากเกินไป ที่สำคัญต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้รัฐบาล จะต้องมีข้อมูลที่แท้จริงอยู่ในมือเป็นรายหมู่บ้าน ว่าชาวบ้านนำไปใช้ทำอะไรบ้าง และมีกระบวนการคืนเงินอย่างไร เช่นนำเงินนอกระบบมาคืนหรือไม่ ถ้ามีต้องเข้าไปแก้ไขก่อน เช่น ไปแนะนำให้หมู่บ้านนั้นปรับปรุงวิธีการจัดการใหม่ ทั้งนี้ทางสำนักงานกองทุน ฯ ยังระบุอีกว่าชาวบ้าน ได้นำไปเป็นกลไกในการพัฒนาสร้างเสริมอาชีพทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ สัดส่วน 71.91% และค้าขาย สัดส่วน 16.33% ส่วนที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ และการรวมกลุ่ม 

.

สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น

กองทุนหมู่บ้านก่อให้เกิดปัญหาในประเด็นหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1.เพิ่มหนี้สิน มีผลกระทบให้ปริมาณหนี้สินระยะสั้นและหนี้สินโดยรวมในแต่ละหมู่บ้านเพิ่มขึ้น และหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมกองทุนหมู่บ้านไม่ได้เข้าไปทดแทนหนี้สินจากแหล่งเงินกู้อื่น

2.เร่งให้กู้นอกระบบมากขึ้น ต้องนำเงินดังกล่าวมาใช้หนี้คืนกองทุน

3.ไม่ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ การกู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้าน ทำให้มีการลงทุนด้านเกษตรกรรมมากขึ้น แต่ไม่ก่อให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ในครัวเรือน ปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเป็นธุรกิจในครัวเรือนเท่านั้น

4.สินทรัพย์ครัวเรือนลดลง เพราะเร่งใช้จ่ายโดยไม่ออมเพื่ออนาคต (Key ต้องดูว่ามีออมเพิ่มขึ้นหรือไม่) เพราะคิดว่ามีสินเชื่อให้กู้ได้ง่าย ทำให้สินทรัพย์น้อยลงแต่เพิ่มระดับการบริโภคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งอาจตีความได้ว่า ครัวเรือนคาดหวังว่า ในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงจับจ่ายในปัจจุบันมากขึ้น ลดระดับของสินทรัพย์ในอนาคตลง เพราะถือว่าการกู้ยืมทำได้ง่ายขึ้น

5.ครัวเรือนนำเอาเงินที่กู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้จ่ายในส่วนที่ไปใช้การลงทุนและถูกภาวะหนี้สินบังคับให้ต้องขายสินทรัพย์ เพื่อนำมาชำระคืนได้เช่นเดียวกัน

6.โครงการกองทุนหมู่บ้านอาจก่อให้เกิดหนี้สูงเกินขีดความสามารถในการใช้คืน

7.ปัญหาด้านจริยธรรม

- ผู้บริหารกองทุนยักยอกเงิน

- บริหารไม่มีการเรียกประชุมชี้แจงสรุปรายงานและประเมินผลเงินดังกล่าว

- การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเงินเป็นเครือญาติพี่น้องของตัวเอง

- การพิจารณาอนุมัติทำโดยพลการ ไม่ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน

- เมื่อมีการร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมและพัฒนาชุมชน ผู้รับผิดชอบโดยตรงไม่ยอมอยู่รับเรื่อง

- มีการโกงกินภายในทำให้ไม่สามารถแจงบัญชีได้

- ผู้บริหารปลอมชื่อกู้

.
ขั้นตอนการทำงานใหม่ที่ควรจะเป็น 

 

จากแนวความคิดใหม่ที่นำเสนอนั้นจะเน้นไปที่การให้องค์ความรู้ (Know How) การติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาจากผลสะท้อนจากภายนอกระบุว่า การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านนั้น มีการนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์เป็นจำนวนมาก นั่นคือ ไม่ได้นำไปใช้เพื่อการผลิตและลงทุน แต่เป็นการนำไปซื้อสาธารณูปโภคหรือสินค้าฟุ่มเฟือย บางส่วนที่นำไปใช้ลงทุนก็ไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัตกรรมใหม่  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านการเกษตร ดังนั้นขั้นตอนการพัฒนาอย่างจริงจัง และอยากให้เม็ดเงินที่ลงไปในส่วนนี้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่าแค่ในแง่ตัวเลข ขั้นตอนการดำเนินงานควรเริ่มต้นจากการให้องค์ความรู้โดยการส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านระดมความคิดประกอบกับคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ช่วยวิเคราะห์และออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product) ที่เหมาะสมที่สุดกับแต่ละหมู่บ้านและชุมชนเมือง (Bring out the best from each area) หลังจากนั้นให้ชาวบ้านนำเสนอโครงการและในขั้นตอนการอนุมัตินั้นควรตรวจสอบปัจจัยต่างเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ในการพิจารณาการปล่อยเงินกู้ให้ลูกหนี้ โดยให้มีแผนการขอกู้เงินของลูกหนี้เป็นหลักว่า โครงการนั้นคุ้ม หรือเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือไม่ เพื่อสร้างวินัยในการใช้เงินให้ชาวบ้าน ควรจะมีการนำนวัตกรรมใหม่ทางการเงินเข้ามาประกอบการวิเคราะห์ เช่น วิเคราะห์ผลตอบแทน (Earning Evaluation) และการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Risk Management) อย่างละเอียด เมื่อเห็นว่าโครงการใดน่าจะประสบความสำเร็จก็เห็นควรอนุมัติได้ และในระหว่างที่ประชนในพื้นที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นควรมีการติดตามผลการดำเนินการให้บ่อยครั้งกว่าเดิม เพื่อการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อให้ของขายได้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้และสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองในอนาคต ต้องการสร้างระบบการตรวจสอบและการทำบัญชีที่ดี วิเคราะห์ผลตอบแทนต่อหน่วยลงทุนที่ได้รับ (Rate of Return) และสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือการให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีกระบวนการการติดตามที่ดี การหาข้อมูลในระดับรายหมู่บ้านหรือแม้กระทั่งรายบุคคลก็สามารถหาได้ง่าย ปัญหาเรื่องการขาดแคลนข้อมูลก็จะหมดไปทั้งรายละเอียดของเงินที่นำไปใช้ ข้อมูลการตรวจสอบว่าเงินได้นำไปใช้ประโยชน์จริง รวมถึงข้อมูลปริมาณหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นรายครัวเรือนในส่วนของครัวเรือนที่ขอกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้รู้ว่า แหล่งเงินที่นำมาใช้คืนมาจากแหล่งเงินนอกระบบมากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ง่ายขึ้น

 

จะเห็นได้ว่าจากตัวอย่างของโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นการพยายามที่จะผลักดันแนวคิดการพัฒนาจากฐานรากสู่ความความยั่งยืนที่ขาดการบริหารจัดการและการปฏิบัติที่ดี จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าแนวคิดในจุดนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องจริงหรือ ทำให้การทุ่มงบประมาณลงไปอาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า และคล้ายกับเป็นการลงทุนเพื่อจุดประสงค์อื่นมากกว่า

 

สุดท้ายนี้ทางผู้เขียนขอสรุปว่าการดำเนินการการพัฒนาโดยการเอาหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางนั้นโดยหลักการถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินการดังกล่าวคือต้องเชื่อในความสามารถของ นวัตกรรมท้องถิ่น และต้องสร้างท้องถิ่นให้พึ่งตนเองได้ทั้งในด้านการเงินการคลัง และการใช้จ่าย การสร้าง Best Practice ให้เป็นแนวทางเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดำเนินการเท่านั้น

 

จากแนวความคิดใหม่ที่นำเสนอนั้นจะเน้นไปที่การให้องค์ความรู้ (Know How) การติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาจากผลสะท้อนจากภายนอกระบุว่า การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านนั้น มีการนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์เป็นจำนวนมาก นั่นคือ ไม่ได้นำไปใช้เพื่อการผลิตและลงทุน แต่เป็นการนำไปซื้อสาธารณูปโภคหรือสินค้าฟุ่มเฟือย บางส่วนที่นำไปใช้ลงทุนก็ไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัตกรรมใหม่  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านการเกษตร ดังนั้นขั้นตอนการพัฒนาอย่างจริงจัง และอยากให้เม็ดเงินที่ลงไปในส่วนนี้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่าแค่ในแง่ตัวเลข ขั้นตอนการดำเนินงานควรเริ่มต้นจากการให้องค์ความรู้โดยการส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านระดมความคิดประกอบกับคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ช่วยวิเคราะห์และออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product) ที่เหมาะสมที่สุดกับแต่ละหมู่บ้านและชุมชนเมือง (Bring out the best from each area) หลังจากนั้นให้ชาวบ้านนำเสนอโครงการและในขั้นตอนการอนุมัตินั้นควรตรวจสอบปัจจัยต่างเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ในการพิจารณาการปล่อยเงินกู้ให้ลูกหนี้ โดยให้มีแผนการขอกู้เงินของลูกหนี้เป็นหลักว่า โครงการนั้นคุ้ม หรือเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือไม่ เพื่อสร้างวินัยในการใช้เงินให้ชาวบ้าน ควรจะมีการนำนวัตกรรมใหม่ทางการเงินเข้ามาประกอบการวิเคราะห์ เช่น วิเคราะห์ผลตอบแทน (Earning Evaluation) และการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Risk Management) อย่างละเอียด เมื่อเห็นว่าโครงการใดน่าจะประสบความสำเร็จก็เห็นควรอนุมัติได้ และในระหว่างที่ประชนในพื้นที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นควรมีการติดตามผลการดำเนินการให้บ่อยครั้งกว่าเดิม เพื่อการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อให้ของขายได้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้และสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองในอนาคต ต้องการสร้างระบบการตรวจสอบและการทำบัญชีที่ดี วิเคราะห์ผลตอบแทนต่อหน่วยลงทุนที่ได้รับ (Rate of Return) และสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือการให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีกระบวนการการติดตามที่ดี การหาข้อมูลในระดับรายหมู่บ้านหรือแม้กระทั่งรายบุคคลก็สามารถหาได้ง่าย ปัญหาเรื่องการขาดแคลนข้อมูลก็จะหมดไปทั้งรายละเอียดของเงินที่นำไปใช้ ข้อมูลการตรวจสอบว่าเงินได้นำไปใช้ประโยชน์จริง รวมถึงข้อมูลปริมาณหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นรายครัวเรือนในส่วนของครัวเรือนที่ขอกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้รู้ว่า แหล่งเงินที่นำมาใช้คืนมาจากแหล่งเงินนอกระบบมากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ง่ายขึ้น

 

จะเห็นได้ว่าจากตัวอย่างของโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นการพยายามที่จะผลักดันแนวคิดการพัฒนาจากฐานรากสู่ความความยั่งยืนที่ขาดการบริหารจัดการและการปฏิบัติที่ดี จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าแนวคิดในจุดนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องจริงหรือ ทำให้การทุ่มงบประมาณลงไปอาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า และคล้ายกับเป็นการลงทุนเพื่อจุดประสงค์อื่นมากกว่า

 

สุดท้ายนี้ทางผู้เขียนขอสรุปว่าการดำเนินการการพัฒนาโดยการเอาหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางนั้นโดยหลักการถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินการดังกล่าวคือต้องเชื่อในความสามารถของ นวัตกรรมท้องถิ่น และต้องสร้างท้องถิ่นให้พึ่งตนเองได้ทั้งในด้านการเงินการคลัง และการใช้จ่าย การสร้าง Best Practice ให้เป็นแนวทางเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดำเนินการเท่านั้น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. รายงานปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบจากโครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทของรัฐบาลไทย, ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอ็ม. ทาวน์เซนด์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา 
  2. ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544
  3. หนังสือพิมพ์มติชน
  4. หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
  5. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
  6. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ