ช่วงหน้าร้อน 3 เดือนนี้ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดจนทะลุ Peak ของปีที่แล้ว กฟผ. วอนประชาชนช่วยกันประหยัด
นายคำผุย จีราระรื่นศักดิ์ รองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่มธุรกิจระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2549 เวลา 14.00 น. ได้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบ มีค่าเท่ากับ 20,744.8 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของปีที่แล้ว เมื่อวันอังคารที่ 26 เมษายน 2548 ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 20,537.5 เมกะวัตต์ เท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้เพิ่มขึ้นถึง 207.3 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 1.01 |
นายคำผุย จีราระรื่นศักดิ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นว่า เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ทำให้ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 19,696 เมกะวัตต์ และจากสภาพอากาศร้อนที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงในสัปดาห์ที่ 2 ของ เดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2549 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบที่ 20,200.9เมกะวัตต์ |
|
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอิทธิพลจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2549 ส่งผลให้ทั่วทุกภาคมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย อุณหภูมิลดลง การใช้ไฟฟ้าจึงลดลงตามเช่นกัน แต่เมื่อสภาพอากาศได้เปลี่ยนแปลงทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ในวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2549 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 20,325.8 เมกะวัตต์ และได้เพิ่มขึ้นตามลำดับดังนี้ ในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม เวลา 14.30 น. ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 20,529.10 เมกะวัตต์ วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2549 เวลา 14.00 น. ได้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าทำลายสถิติสูงสุดจากปีที่ผ่านมา |
รองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่มธุรกิจระบบส่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคม คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบจะอยู่ที่ประมาณ 21,657 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ. ได้เตรียมแผนการผลิตรองรับไว้ล่วงหน้าคือให้มีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายไม่ต่ำกว่า 700 เมกะวัตต์ ดังนั้นกำลังผลิตสำรองของระบบจึงอยู่ในเกณฑ์เพียงพอ ทำให้มีความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าโดยไม่มีปัญหาไฟตกหรือไฟดับ และขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง |