"จุติ" เผยค.ร.ม. เปิดไฟเขียวนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติภายใต้ กสทช. ลั่นพร้อมเดินหน้าผลักดันบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในเมืองเศรษฐกิจ
นายจุติ ไกรฤกษ์ |
. |
"จุติ" เผยค.ร.ม. เปิดไฟเขียวนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติภายใต้ กสทช. ลั่นพร้อมเดินหน้าผลักดันบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในเมืองเศรษฐกิจ |
. |
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณา (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตามที่กระทรวงไอซีที นำเสนอในการประชุมเมื่อ วันที่ 17 กันยายน 2553 |
. |
โดยมีมติเห็นควรให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติภายใต้ กทสช.ขึ้น เพื่อจัดทำ นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติสำหรับเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาบรอดแบนด์ของประเทศ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวนี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นรองประธาน รวมทั้งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย |
. |
“คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยได้ศึกษา วิเคราะห์สถานภาพ ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งได้พิจารณาจากทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นพื้นฐาน |
. |
พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายบรอดแบนด์ของประเทศจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholders ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ก่อนนำมาจัดทำเป็น (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ” นายจุติ กล่าว |
. |
สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติฉบับนี้ คือ |
1. ภาครัฐมีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาบริการ บรอดแบนด์ ให้เป็นบริการที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยให้ทั่วถึง เพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม ภายใต้การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม |
. |
2. ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดช่องว่างทางดิจิทัล ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเชิงกลุ่มประชากร สามารถกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน |
. |
3. ภาครัฐและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาบรอดแบนด์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน |
. |
4.ในการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ รัฐจะบริหารจัดการทรัพย์สินด้านโทรคมนาคมที่รัฐได้ลงทุนไปแล้วและอาจจะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายอย่างเสมอภาค โดยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด |
. |
และรัฐจะไม่ผูกขาดที่จะเป็นผู้ลงทุนในการจัดให้มีบริการต่าง ๆ แต่เพียงผู้เดียว แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายที่พึงประสงค์และมีศักยภาพที่จะลงทุนเพื่อให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดโครงข่ายบรอดแบนด์ทั่วประเทศ โดยให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในการให้บริการ |
. |
5.ในเรื่องที่เกี่ยวกับเขตอำนาจอธิปไตยของชาติ เช่น ตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียม จุดขึ้นฝั่งของเคเบิลใต้น้ำ หรือจุดเชื่อมต่อโครงข่ายข้ามพรมแดน ถือว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและเป็นสิทธิหรือทรัพยากรที่รัฐจะส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในแง่ของการนำมาใช้งานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ |
. |
และการนำมาใช้งานเพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการที่จะพัฒนาความร่วมมือและการค้าระหว่างประเทศรัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินการตามนโยบาย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนจัดให้มีบริการดังกล่าว และ |
. |
6. รัฐจะส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมส่วนปลายทางทั้งแบบใช้สายและไร้สาย ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ผลิตเนื้อหา ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ และผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ |
. |
“(ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติที่กระทรวงฯ ได้จัดทำขึ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมประชากร ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 2563 รวมทั้งให้มีบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในความเร็วที่ไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ภายในปี 2563 ด้วย” นายจุติ กล่าว |
. |
นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถได้รับบริการผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ และบริการสาธารณะอื่น ๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ |
. |
โดยภายในปี 2558 ได้ตั้งเป้าหมายให้โรงเรียนในระดับตำบลสามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยทุกแห่ง สามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพเดียวกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือเทียบเท่า |
. |
ตลอดจนให้องค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งสามารถให้บริการระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงข่าย บรอดแบนด์ ได้ภายในปีเดียวกัน พร้อมกันนั้นยังตั้งเป้าที่จะให้มีระบบการเฝ้าระวังเตือนภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และเหตุฉุกเฉินผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีอีกด้วย |
. |
ส่วนในภาคธุรกิจได้ตั้งเป้าหมายให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงข่ายบรอดแบนด์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเช่นกัน รวมทั้งได้วางเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากร โดยใช้การสื่อสารหรือเข้าถึงข้อมูลร่วมกันผ่านบริการบรอดแบนด์ ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งจะส่งผลในการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน รวมถึงลดต้นทุนการให้บริการบรอดแบนด์โดยรวม |
. |
โดยเฉพาะด้านการเชื่อมต่อวงจรออกต่างประเทศและการนำบรอดแบนด์เข้าถึงผู้ใช้บริการ เพื่อให้อัตราค่าใช้บริการลดต่ำลง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเนื้อหาสาระ (Content) และโปรแกรมประยุกต์ (Application) ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การสาธารณสุข การป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ศาสนาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตประจำวัน |
. |
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจถึงคุณค่า และความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เร่งตัวเร็วขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการพัฒนา เกิดการขยายตัว และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไปสู่ระดับสากลด้วย |
. |
“สำหรับแนวทางการดำเนินการเพื่อให้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติบรรลุเป้าหมายนั้น ได้กำหนดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการบรอดแบนด์ การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์ การประกันความมั่นคงปลอดภัยของโครงข่ายบรอดแบนด์และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม รวมทั้งการบริหารจัดการขับเคลื่อนนโยบายและการประสานการกำกับดูแล |
. |
โดยกระทรวงไอซีที ได้นำเสนอนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบรวมทั้งให้ความเห็นชอบในหลักการในการประชุมวันนี้ (9 พ.ย.) แล้ว และจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะใช้เป็นเครื่องมือในการนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติต่อไป” นายจุติ กล่าว |