เนื้อหาวันที่ : 2007-02-26 10:36:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 868 views

ก.พลังงาน เอาใจชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าใหม่อาจได้ใช้ไฟฟรี !

รัฐบาล "พอเพียง" แจงกระทรวงพลังงาน ย้ำ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ต้องให้ความสำคัญเพื่อแยกอำนาจการกำกับดูแลออกจากผู้ประกอบการ สร้างความเป็นธรรมสูงสุด ชู Energy Tax จัดสรรเงินคุ้มครองชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า รองรับการใช้ไฟฟรี และพัฒนาท้องถิ่น เอาใจชาวบ้านลุกฮือคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้ามลพิษ

รัฐบาล "พอเพียง" โดยกระทรวงพลังงาน ออกโรงแจงกรณี พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ย้ำต้องให้ความสำคัญเพื่อแยกอำนาจการกำกับดูแลออกจากผู้ประกอบการ สร้างความเป็นธรรมสูงสุด   ชู Energy Tax  จัดสรรเงินคุ้มครองชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า  รองรับการใช้ไฟฟรี และพัฒนาท้องถิ่น

.

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว นายปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยว่า  ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ... ที่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคทั่วประเทศ  ถือว่าเป็นร่างกฎหมายสำคัญของประเทศ เพื่อแยกอำนาจการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการประกอบการ ออกจากกัน รวมถึงทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการด้านพลังงาน ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม โดยจะสรุปร่างฯ นี้ เสนอเข้า ครม. ภายในเดือนมีนาคม

.

ทั้งนี้  ตามร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่ออุดหนุนค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และจะมีการจัดสรรเงินพัฒนาชุมชนให้แก่ท้องถิ่นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า  หรือ Energy Tax  โดยให้ผู้ดำเนินโครงการเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินประมาณ  1-3 สต.ต่อหน่วย  เช่น  การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ หากเสีย Energy Tax ในอัตราเพียง 1 สต. ต่อหน่วย จะได้เงินประมาณ 52 ล้านบาทต่อปี  หากมีประชาชนอยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้า  20,000  ครัวเรือน  หรือประชาชนประมาณ 100,000 คน  แต่ละครัวเรือนอาจใช้ไฟฟ้าได้ฟรี 200 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน  ซึ่งจะใช้เงิน 48 ล้านบาทต่อปี 

.

โดยยังจะเหลือเงินจาก Energy Tax จำนวน 4 ล้านบาทต่อปี ที่สามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นในด้านอื่น ๆ ได้อีก  ส่วนในกรณีที่เป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,400 เมกะวัตต์ และเก็บ Energy Tax ในอัตรา 3 สต. ต่อหน่วย จะได้เงินสูงถึง 312 ล้านบาทต่อปี  ก็จะสามารถครอบคลุมจำนวนครัวเรือนได้มากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีผลประโยชน์แก่ประชาชนโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าได้มากขึ้นเช่นกัน

.

ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน ฉบับนี้ จะรองรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้านี้อย่างชัดเจน  และสามารถบังคับใช้ได้กับโรงไฟฟ้าทุกประเภท แต่หาก  พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ทันในการประมูลผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่  (IPP) รอบใหม่  ก็จะกำหนดเข้าเป็นเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ต่อไป  นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

.

นายปิยสวัสดิ์  กล่าวว่า ร่าง  พ.ร.บ. ฉบับนี้  ยังให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกเวนคืนที่ดิน หรือรอนสิทธิ เพื่อสร้างโครงข่ายพลังงาน  การโอนสิทธิต่าง ๆ  ซึ่งปัจจุบันอำนาจเหล่านี้อยู่ที่ผู้ประกอบการ อาทิ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  ซึ่งต่อไปจะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเข้ามาเป็นผู้ดูแล  การจ่ายเงินค่าทดแทนความเสียหาย  รวมทั้งทำหน้าที่พิจารณาการอุทธรณ์กรณีผู้ถูกเวนคืน หรือผู้ถูกรอนสิทธิเห็นว่าไม่ชอบธรรม

.

แต่เดิมอำนาจการรอนสิทธิเวนคืนขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ เมื่อประชาชนร้องเรียนขึ้นมาก็ต้องวิ่งไปหาผู้ประกอบการ  ซึ่งในบางกรณีอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร  โดยต่อไปจะมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และทำหน้าที่นี้แทน  จึงนับว่าเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้เกิดการแยกการใช้อำนาจรัฐ  การกำกับดูแล ออกจากผู้ประกอบการอย่างแท้จริง  นายปิยสวัสดิ์  กล่าว.