คจ.สช. จับมือองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ถกปัญหา "แร่ใยหิน มหันตภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทย" ลั่นชงมติเสนอรัฐ! ยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินทุกประเภท ภายใน 2 ปี
. |
คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จับมือองค์กรวิชาชีพสื่อฯ เปิดเวทีถกปัญหา "แร่ใยหิน มหันตภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทย" ลั่นชงมติเสนอรัฐ! ยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินทุกประเภท วางกรอบ 2 ปี “สังคมไทย ไร้แร่ใยหิน” พร้อมปรับสถานะเป็น “วัตถุอันตราย ประเภท 4” ห้ามนำเข้า-ครอบครอง และห้ามผลิต! ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดึง สคบ.ปูพรหม 26 จังหวัดนำร่อง “ติดฉลากเตือนอันตราย” จากวัตถุที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน หวั่นมะเร็งลามทั่วไทย |
. |
คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “แร่ใยหิน มหันตภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทย” โดยมี นพ.สุรพจน์ สุวรรณพานิช รองประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ , |
. |
ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ผศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ น.ส สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมการอภิปราย |
. |
นายแพทย์สุรพจน์ สุวรรณพานิช รองประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ประเด็น ที่อยู่ในระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเครือข่ายสมัชชาพื้นที่ทั่วประเทศได้พิจารณา ก่อนจะนำมติในแต่ละประเด็น เข้าสู่การพิจารณาในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ |
. |
“การทำให้สังคมไร้แร่ใยหินต้องมีการจัดการแบบบูรณาการ ทั้งด้านการรณรงค์สร้างความรู้ ความตระหนัก ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน การเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการพัฒนาให้มีกฎหมายเข้มงวด เพื่อมุ่งไปสู่การใช้เลิกใช้แร่ใยหินอย่างถาวร ซึ่งข้อมูลในระดับสากล |
. |
เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ต่างมีมติให้ประเทศสมาชิก ห้ามใช้และขจัดแร่ใยหิน มาตั้งแต่ปี 2549-2550 ขณะเดียวกันกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินทุกประเภท ภายในปี 2555 หรืออีก 2 ปีนับจากนี้” |
. |
ขณะที่ นพ.สมเกียรติ กล่าวสรุปสถานการณ์ปัญหาแร่ใยหินในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกว่า 50 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้หรือห้ามนำเข้าแล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ เนื่องจากมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่า “แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง” |
. |
ทำให้ผู้ที่สูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินเข้าไปสะสมในร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด ตลอดจนโรคเกี่ยวกับปอดอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ฯลฯ ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในแต่ละปีจะมีผู้คนทั่วโลกที่ทำงานหรือต้องสัมผัสกับแร่ใยหินประมาณ 125 ล้านคน และในจำนวนนี้จะเสียชีวิตมากถึงปีละกว่า 100,000 คน |
. |
นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยเริ่มมีการนำแร่ใยหินมาใช้เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีปริมาณน้อย จนเมื่อบ้านเมืองเจริญเติบโต มีสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวออกไป ส่งผลให้ปริมาณการใช้แร่ใยหินมากขึ้นตามไปด้วย |
. |
และปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินประมาณปีละ 150,000 ตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศรัสเซีย และแคนาดา ซึ่งมีเหมืองแร่ใยหินเพื่อการส่งออก แต่ได้มีการห้ามใช้แร่ใยหินภายในประเทศ โดยแร่ใยหินที่นำเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 90% จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ |
. |
“เราต้องสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน เช่น มีการติดฉลากเตือนอันตราย รณรงค์ให้มีการลดและเลิกการใช้แร่ใยหิน ต้องมีการพัฒนาระบบทางการแพทย์เพื่อเฝ้าระวังและตรวจพิสูจน์โรคที่เกิดจากแร่ใยหิน นอกจากนี้ต้องมีการประสานกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง |
. |
อาทิ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ที่สำคัญก็คือ หน่วยงานภาครัฐต้องเป็นตัวอย่างในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เช่น หากจะสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ ก็ต้องไม่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหิน” |
. |
ทางด้าน ผศ.พญ.พิชญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการ ต่างรณรงค์ให้เลิกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน และเห็นตรงกันว่าควร “ยกเลิกการใช้” แต่ก็มีผู้ประกอบการที่ยังนำเข้ามากว่า 30 ปี โดยประเทศไทยมีอัตราการนำเข้าเป็นอันดับที่ 4 รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย |
. |
ที่น่าตกใจก็คือ มีการบริโภคมากติดอันดับ 2 ของโลก รองจากรัสเซีย ในอัตราการบริโภคประมาณ 3 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งหากคนไทยยังใช้แร่ใยหินต่อไปคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดโรคจากแร่ใยหิน ปีละประมาณ 1,300 คน |
. |
“เครือข่ายสมัชชาสุขภาพฯมีข้อเสนอเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับสถานะแร่ใยหินจากวัตถุอันตรายประเภท 3 (ต้องขออนุญาตนำเข้า ครอบครอง และผลิต) ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งหมายถึงการห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามผลิต โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะผลักดันให้มาตรการดังกล่าว มีผลบังคับใช้ออกมาโดยเร็ว” |
. |
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคได้พยายามผลักดันให้มีการ “ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน” แต่เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาเตรียมตัว จึงเสนอให้หยุดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินภายใน 1 ปี และให้มีการยกเว้นภาษีวัตถุทดแทนแร่ใยหิน จากเดิมที่เคยเก็บในอัตรา 5% เพื่อเป็นการจูงใจผู้ประกอบการ |
. |
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน และเตรียมเสนอให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แก้ไขในเรื่องการติดฉลากเตือนผู้บริโภค ซึ่งแต่เดิมเพียงเตือนว่า “อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ให้แก้ไขเป็น “ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ อาจก่อให้เกิดมะเร็งและโรคปอด” |
. |
“ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 26 จังหวัดนำร่อง เพื่อตรวจสอบว่ามีสินค้าใดได้ติดฉลากเตือนบ้างแล้ว และขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการติดประกาศบนผลิตภัณฑ์ที่มีการยกเลิกใช้แร่ใยหิน เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดแร่ใยหิน” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในตอนท้าย |