เนื้อหาวันที่ : 2010-11-10 10:41:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 625 views

CPF ปลื้มส่งออกกุ้งฉลุย ออเดอร์ทะลักถึงปีหน้า

ส่งออกกุ้งฉลุย ออเดอร์ทะลักถึงปีหน้า CPF คาดยอดขายเพิ่มขึ้นทั้งระดับราคาและปริมาณ

.

นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ (Mr.Pisit Ohmpornnuwat, Executive Vice President) รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่าในปีนี้ออเดอร์การสั่งซื้อกุ้งจากต่างประเทศมายังประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าปกติมาก และมีแนวโน้มว่าจะสั่งซื้อต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปี 2554 

.

“ปกติลูกค้าในแถบยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา จะหยุดการสั่งซื้อกันในช่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็น End Year Sale แต่ในปีนี้กลับมีคำสั่งซื้อกันจนถึงนาทีสุดท้ายในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะสั่งซื้อต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีหน้าด้วย ถือเป็นคำสั่งซื้อที่มากขึ้นผิดปกติจริงๆ

.

นอกจากปริมาณที่ลูกค้าต้องการจะมากขึ้นแล้ว ระดับราคาขายกุ้งก็ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกราว 10-15% ในไตรมาสแรกปี 2554 ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกุ้งแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น กุ้งที่ซีพีเอฟส่งออกอยู่ก็จะได้ราคาที่ดีขึ้นราว 30-40 % ทีเดียว” 

.

ทั้งนี้ สาเหตุเป็นเพราะผลผลิตกุ้งทั่วโลกโดยรวมของปีนี้ค่อนข้างขาดแคลน ประเทศคู่ค้าไม่สามารถสั่งซื้อกุ้งจากผู้ผลิตกุ้งในประเทศอื่นๆ ได้ เนื่องจากผู้ผลิตกุ้งที่สำคัญ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม เม็กซิโก ต่างประสบปัญหาด้านโรคระบาดทำให้ผลผลิตกุ้งเสียหาย ด้านบราซิลก็ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะโรคระบาดเช่นกัน

.

ขณะที่การเพาะเลี้ยงกุ้งของเวียดนาม และจีน ก็ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตกุ้งของโลกวันนี้ ลดลงสวนทางกับความต้องการบริโภคกุ้ง ประเทศผู้นำเข้าจึงหันมานำเข้ากุ้งจากไทยอย่างคึกคัก 

.

สำหรับสถานการณ์ผลผลิตกุ้งในขณะนี้ของประเทศไทย พบว่าฟาร์มกุ้งทั่วไปที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มได้รับความเสียหายบ้างจากภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยลดลงราว 20-30% ของกุ้งที่จะออกมาในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ระดับราคากุ้งในประเทศขยับตัว                     

.

เช่น กุ้งขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม จากเดิมราคา 120-125 บาท ขยับเป็น 127-130 บาท ส่วนกุ้งขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม จากราคา 90 บาทก็มีโอกาสจะไปขยับไปที่ 95 บาท โดยราคาจะเริ่มขยับตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป 

.

นอกจากนี้ การเลี้ยงกุ้งในไตรมาสสุดท้ายของปีจะน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว และปีนี้เป็นปีที่คาดการณ์ว่าอากาศจะหนาวเย็นและยาวนานกว่าทุกปี ทำให้เกษตรกรชะลอการปล่อยกุ้งลงเลี้ยง และเชื่อว่าจะทำให้ระดับราคาขยับตัวขึ้นอีกราว 10-15% เป็นผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยสามารถขายกุ้งได้ในราคาที่ดีด้วยเช่นกัน 

.

ซีพีเอฟซึ่งเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยก็ได้รับผลดีจากปัจจัยดังกล่าวด้วย โดยภาวะการส่งออกกุ้งของบริษัทในปี 2553 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 52,000 ตัน จากปีก่อนที่มียอดส่งออกประมาณ 34,000 ตัน หรือสูงขึ้นกว่า 53 % คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 12,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 7,800 ล้านบาทหรือสูงขึ้นกว่า 54 %

.

โดยตลาดส่งออกกุ้งส่วนใหญ่ของซีพีเอฟยังคงเป็นตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 35 ญี่ปุ่นร้อยละ 30 สหรัฐอเมริการ้อยละ 15-20 ที่เหลือเป็นตลาดในเอเชีย เช่น เกาหลี ออสเตรเลีย เป็นต้น