"โลกาภิวัฒน์" ได้ทำให้ชีวิตของทุกคนบนโลกเปลี่ยนไป พลังโลกาภิวัฒน์ บวกกับกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมเสรียิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้าง "นวัตกรรม" ใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา (ตอนที่ 3)
The 21st Century Economy |
. |
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ |
. |
. |
ซีรีส์ The 21st Century Economy เมื่อฉบับที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงพัฒนาการของ Internet Economy มาถึงตอนกำเนิดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นเซกเมนต์หนึ่งของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่เริ่มขยายตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 60 |
. |
อย่างที่ผู้เขียนเน้นเสมอนะครับว่า "โลกาภิวัฒน์" ได้ทำให้ชีวิตของทุกคนบนโลกนี้เปลี่ยนไป พลังโลกาภิวัฒน์ บวกกับกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่เน้นกลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจนั้นยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้าง “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา |
. |
นวัตกรรมเหล่านี้ประกอบไปด้วย สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ รวมไปถึงวิธีการจัดการแนวใหม่ที่ช่วยให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนและสร้างกำไรให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้น |
. |
สำหรับ “พลานุภาพทางเศรษฐกิจของ Internet Economy” ในตอนนี้จะกล่าวถึง “ไทคูน” ลูกใหม่ที่เกิดจาก Internet Economy รุ่นที่สามซึ่งว่ากันว่าทั้งหมดล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากความสำเร็จของ “บิล เกตส์” และ “ไมโครซอฟต์” ครับ |
. |
Amazon.com ผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ |
ช่วงทศวรรษที่ 90 ระหว่างที่ “บิล เกตส์” และ “พอล อัลเลน” ต่างบุกตะลุยเข้าไปในสังเวียนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และพัฒนาระบบปฏิบัติการ (Operation) ใหม่อย่าง Windows จนเป็นที่นิยมแพร่หลายของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ พร้อมกันนั้นความต้องการใช้ Internet ก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดย Internet ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาอีกต่อไปแล้ว หากแต่วัตถุประสงค์ของ Internet เริ่มขยายไปสู่เรื่อง “การค้าขาย” มากขึ้น |
. |
อย่างไรก็ตาม ในยุคตื่นทองบนโลกอินเตอร์เน็ต (Internet Gold Rush) การค้าขายดังกล่าวเป็นไปในลักษณะการติดต่อกันระหว่างผู้ผลิตกับซัพพลายเออร์เป็นส่วนใหญ่ครับ ผู้ผลิตจะพยายามจับคู่หาซัพพลายเออร์ทั่วโลกที่สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตให้ในราคาที่ตกลงกันได้ ยกตัวอย่างเช่นบริษัทในอเมริกาสามารถจ้างบริษัทในอินเดียรับทำบัญชีให้ในต้นทุนที่ถูกกว่าในประเทศตัวเอง |
. |
แต่สำหรับวงการ “ค้าปลีก” นั้นกลับยังไม่มีใครมั่นใจว่าธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ (Online Retailer) จะเกิดขึ้นได้เนื่องจากมีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความไม่มั่นใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าผ่าน Internet |
. |
ในปี 1994 เจฟฟรีย์ เบซอส (Jeffry Bezos) อดีตโปรแกรมเมอร์ในวอลล์สตรีทกลับไม่คิดเช่นนั้นเบซอสมองเห็นภาพธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะเติบโตได้ในโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงก่อตั้งเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์อย่าง Amazon.com ขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากการเปิดร้านขายหนังสือออนไลน์ขึ้นมาก่อนครับ |
. |
Amazon.com เปิดตัวเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1995 โดยหนังสือเล่มแรกที่มีการซื้อขายออนไลน์ผ่าน Amazon.com คือ Fluid Concepts and Creative Analogies: Computer Models of the Fundamental Mechanisms of Thought ของ Douglas Hofstadter |
. |
เจฟฟรีย์ เบซอส (Jeffry Bezos) |
. |
หนังสือเรื่อง Fluid Concepts and Creative Analogies: |
. |
เจฟฟรีย์ เบซอส เป็นบุคคลแรกที่ประสบความสำเร็จในวงการค้าปลีกออนไลน์โดยเขาได้พัฒนา Amazon.com ให้กลายเป็นเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีประสิทธิภาพในแง่ของการสั่งซื้อสินค้า สต็อกสินค้าและจัดส่งสินค้า |
. |
ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของการค้าปลีกออนไลน์คือ ความไม่มั่นใจในตัวสินค้ารวมไปถึงการชำระเงินซึ่งทางผู้ซื้อเองไม่มั่นใจว่าเมื่อจ่ายเงินไปแล้วจะได้ของกลับมาหรือเปล่า หรือสภาพสินค้าจะดีหรือไม่ อย่างไรก็ตามเบซอสได้สร้างระบบที่ดีเพื่อเข้ามาจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวจนเป็นมาตรฐานของการค้าปลีกออนไลน์ในปัจจุบัน |
. |
ทุกวันนี้ Amazon.com กลายเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีหนังสือสำหรับขายปลีกราว ๆ 200,000 เรื่อง ขณะเดียวกัน Amazon.com ได้ขยายกิจการไปสู่การขาย DVD, MP3, CD เพลง รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย นอกจากนี้ Amazon ยังมีหน้าร้านบน Internet ตามโฮสต์ของประเทศต่าง ๆ อย่าง แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น |
. |
ว่ากันว่าแต่ละปีมีผู้เข้ามาใช้บริการเว็บไซต์ของ Amazon กว่า 650 ล้านคนจากทั่วโลก ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าหากเป็นร้านค้าจริง ๆ ปริมาณลูกค้าขนาดนี้คงทำให้เจ้าของห้างร่ำรวยมหาศาลกันเลยทีเดียว |
. |
ในปี 1997 เบซอส นำ Amazon.com เข้าตลาดหุ้น NASDAQ โดยราคา IPO เปิดตัวซื้อขายหุ้น Amazon.com ครั้งแรกอยู่ที่ 18 เหรียญสหรัฐ ต่อหุ้น ทั้งนี้รายได้สุทธิของ Amazon เมื่อปีกลายอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐครับ |
. |
Amazon.com |
. |
ทุกวันนี้ Amazon.com มีผลิตภัณฑ์ค้าปลีกออนไลน์มากมายหลายชนิด อย่างภาพยนตร์ที่มีเว็บไซต์อย่างIMDB.net ก็เป็นแหล่งข้อมูลภาพยนตร์จากทั่วโลกที่สมบูรณ์ที่สุด หรือ Amazonmp3 ก็เจาะตลาดเพลงอย่างเดียว |
. |
Amazon.com นับเป็นต้นแบบโมเดลของการค้าปลีกออนไลน์ให้กับผู้ที่สนใจที่จะหาช่องทางทำมาหากินทาง Internet เช่น ในตะวันออกกลางมีเว็บไซต์อย่าง neelwafurat.com ที่เบรุต เลบานอน ก็ได้ใช้โมเดลร้านหนังสือออนไลน์แบบ Amazon สร้างร้านขายหนังสืออาราบิกออนไลน์เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวตะวันออกกลางและรู้ภาษาอาราบิก เป็นต้น |
. |
จะเห็นได้ว่า “นวัตกรรม” ที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์” นั้นได้สร้าง “มหาเศรษฐี” ใหม่ขึ้นมาแล้วหลายคนนะครับ ไม่ว่าจะเป็น บิล เกตส์ หรือ เจฟ เบซอส ซึ่งหากศึกษาแนวคิดของทั้งสองคนนี้ให้ดี ๆ จะพบว่าทั้งคู่มีความเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ วิธีคิดที่ออกนอกกรอบและคิดต่างจากตลาดทั่วไป โดยพยายามสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง |
. |
Yahoo.com อดีตอันเกรียงไกรของเว็บท่า (Portal Website) |
ในช่วงเริ่มต้นของการใช้อินเตอร์เน็ตนั้น เนื้อหาเว็บไซต์ (Content) นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์นั้นเป็นประจำ แต่ผู้ใช้จะรู้ได้อย่างไรว่ามีเว็บไซต์ที่น่าสนใจอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดเว็บที่มีลักษณะเป็น Portal Website ขึ้นมา หรือ เรียกให้ง่ายหน่อยก็คือ “เว็บท่า” นั่นเองครับ |
. |
เว็บท่า เป็นเว็บที่รวบรวมเว็บไซต์และบทความต่าง ๆ โดยจัดหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นระบบและสามารถพาผู้เข้ามาแวะไปยังเว็บอื่นได้ |
. |
ช่วงกลางทศวรรษที่ 90 นับเป็นช่วงเวลาขุดทองอย่างแท้จริงบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ต่างกระโจนเข้ามาในเหมืองทองคำแห่งนี้ โดยมี บิล เกตส์ และ พอล อัลเลน เป็นคู่หูตัวอย่าง เช่นเดียวกันกับสองนักศึกษาปริญญาเอกจากสแตนฟอร์ด เจอรรี่ หยาง (Jerry Yang) และ เดวิด ไฟโล (David Filo) ก็เป็นอีกหนึ่งการจับคู่ “ไทคูน” รุ่นใหม่ที่สร้างเนื้อสร้างตัวจาก Internet Economy |
. |
Yahoo! เว็บท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก |
. |
เจอร์รี่ หยาง (ซ้าย) และ เดวิด ไฟโล (ขวา) |
. |
Yahoo! ถือกำเนิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ Amazon.com นะครับ โดยเมื่อปี 1994 ทั้งหยางและไฟโลสร้าง Yahoo! ขึ้นมาก็เพื่อเป็นเว็บไดเร็กทอรี่ (Directory Website) ที่รวบรวมเว็บลิงก์น่าสนใจไว้เป็นหมวดหมู่ชัดเจนสำหรับการค้นหา ซึ่งในเวลาต่อมามีเว็บประเภท Search Engine ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานอยากจะทราบ |
. |
มีเกร็ดเล็ก ๆ เกี่ยวกับ Yahoo! นะครับว่า ทั้งหยางและไฟโลเรียกชื่อเว็บของพวกว่า “ยาฮู” เพราะมีความหมายว่า ตรงไปตรงมา ดูจริงใจดี ซึ่งทั้งคู่ได้ชื่อนี้มาจากหนังสือเรื่อง Gulliver Travel ของ โจนาธาน สวิฟต์ (Jonathan Swift) ครับ |
. |
อย่างไรก็ดี Yahoo! ของแท้ต้องมีเครื่องหมาย “อัศเจรีย์” ตามหลังด้วยนะครับ เพราะถ้าเป็น Yahoo ธรรมดาจะไปซ้ำกับยี่ห้อซอสบาร์บีคิวเข้า นอกจากนี้ทั้งหยางและไฟโลยังขยายความ Yahoo! ว่าหมายถึง Yet Another Hierarchical Officious Oracle |
. |
ในช่วงแรก ๆ Yahoo! ถูกสร้างขึ้นมาเล่น ๆ ไม่ได้จริงจังอะไรนัก แต่กลับได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากนักท่องเน็ต จนอีกหนึ่งปีต่อมา Yahoo! ได้จัดตั้งบริษัทและเริ่มเข้าตลาด NASDAQ เมื่อปี 1996 ครับ โดยราคา IPO เปิดซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งแรกอยู่ที่ราคาหุ้นละ 13 เหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงกับราคาหุ้นของ Amazon.com |
. |
ช่วงปลายทศวรรษที่ 90 นับเป็นยุคทองของเว็บท่าอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ Yahoo! ได้รับความนิยมอย่างมากจนสามารถขยายอาณาจักรและควบรวมซื้อกิจการบริษัทต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เช่น Yahoo! ได้สร้างชื่อด้วยการซื้อเว็บไซต์ของบริษัทโฟร์ อีเลฟเว่น ที่ให้บริการ Rocketmail แล้วเปลี่ยนมาใช้ Yahoo! Mail จนได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วไป |
. |
Yahoo! นับเป็นเว็บไซต์แรก ๆ ที่ให้บริการเรื่องอีเมล์ จนทุกวันนี้ Yahoo Mail มีอายุเกิน 10 ปีแล้วนะครับ มีบัญชีผู้ใช้กว่าร้อยล้านบัญชี นอกจากนี้ Yahoo! ยังไปซื้อกิจการของ ClassicGames.com แล้วเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Yahoo! Games ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเนื้อหาในเว็บท่าแห่งนี้ |
. |
ในช่วง Dot-Com Bubble หรือฟองสบู่ในธุรกิจดอทคอมนั้น ราคาหุ้น Yahoo! ของ หยางและไฟโลทะยานสูงถึง 475 เหรียญสหรัฐ หรือ 36 เท่าของราคา IPO วันแรกที่ทำการซื้อขาย แต่หลังจากฟองสบู่แตกลง Yahoo! ก็แทบจะเอาตัวไม่รอดเช่นเดียวกับธุรกิจดอตคอมรายอื่น |
. |
โดยราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียง 4.06 เหรียญสหรัฐเท่านั้น และตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา Yahoo! เองมีข่าวจะถูก Microsoft ของ บิล เกตส์ เข้าควบรวมกิจการ แต่อย่างไรก็ดีทั้งสองยังไม่สามารถหาข้อตกลงเรื่องการควบรวมได้ |
. |
Yahoo! เองได้เปิดให้บริการเว็บท่าในภาษาต่าง ๆ จำนวน 20 ภาษา หรือ Yahoo! International รวมทั้งภาษาไทยเราก็มี Yahoo.co.th หรือ Yahoo! ประเทศไทยด้วยนะครับ |
. |
หน้าเว็บเพจ Yahoo! ประเทศไทย |
. |
อาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลาในทศวรรษที่ 90 นั้น นับเป็นช่วงเวลา “ตื่นทอง” และ “ขุดทอง” บนโลกออนไลน์ ทั้งนี้อินเตอร์เน็ต คือ ช่องทางในการขยายฐานลูกค้าจากเดิมโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างร้านรวงให้ใหญ่โตแต่อย่างใด |
. |
ตัวอย่าง Amazon.com ร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดนับเป็นโมเดล “ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์” ที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการบริหารจัดการและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าซึ่งทำให้ Amazon สามารถขยายฐานธุรกิจไปสู่ร้านค้าออนไลน์ประเภทอื่นได้ |
. |
เช่นเดียวกับการสร้างเนื้อหาที่ชัดเจน ตลอดจนมีความหลากหลายในรูปแบบของ “เว็บท่า” ก็ได้ทำให้ Yahoo! ของหยางและไฟโลกก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของเว็บไดเร็กทอรี่ |
. |
ทั้งสองบริษัทล้วนแล้วแต่ได้อานิสงค์จาก Internet Economy ด้วยกันทั้งนั้นนะครับ ในช่วงเพียงไม่กี่ปีทั้งสองสามารถนำหุ้นเข้าตลาด NASDAQ ได้ นับได้ว่า Internet Economy กำลังจะกลายเป็นอีก “ขา” เศรษฐกิจหนึ่งของภาคบริการที่ช่วยค้ำยันเศรษฐกิจโลกไว้ |
. |
แหม่ ! เนื้อที่บนหน้ากระดาษหมดแล้วสิครับ เห็นทีจะต้องมาเล่าเรื่องของยุค Search Engine กันต่อในตอนหน้าแล้วล่ะครับ คราวนี้เราจะได้พบกับอีกหนึ่งบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดใน Internet Economy นั่นคือ Google ไงล่ะครับ |
. |
เอกสารและภาพประกอบการเขียน |
1. www.wikipedia.org |