เนื้อหาวันที่ : 2010-11-09 10:29:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 586 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 9 พ.ย. 2553

1. กรรมการข้าว แนะทำนาช่วง ธ.ค. เพราะจะให้ผลผลิตดี

- รองอธิบดีกรมการข้าวเผยว่า เกษตรกรที่จะปลูกข้าวในช่วงนี้จะประสบปัญหาข้าวกระทบหนาวซึ่งจะไม่ได้ผลผลิตเต็มที่ ควรเลื่อนไปปลูกช่วง ธ.ค. เพราะข้าวจะออกรวงช่วง ก.พ. 54  ซึ่งจะเติบโตต่อเนื่องและให้ผลผลิตได้ดี

.

นอกจากนี้ รักษาการ ผอ.ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมกระทบนาข้าวภาคอีสานจำนวนมาก เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรูข้าวหลังน้ำลด โดยในเบื้องต้นจะเข้าไปสำรวจและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่ที่เสียหาย และในพื้นที่ที่น้ำท่วมประจำแนะนำใช้พันธ์ข้าวทนน้ำลึก เช่น กข 19 หันตรา 60 เล็บมือนาง 111 ปิ่นแก้ว 56

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าราคาข้าวนาปีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 1.5 และ 12.9 ต่อปี ในช่วงไตรมาส 1 ถึง 3 ของปี 2553 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในด้านปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่อง  

.

ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยน้ำท่วมแล้ว ข้าวไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันด้านการส่งออก เนื่องจากปัจจัยการแข่งขันด้านราคาของข้าวเวียดนามที่อยู่ในระดับต่ำกว่าไทย ส่วนหนึ่งจากการลดดค่าเงินดอง และปัจจัยด้านการเร่งเพิ่มปริมาณผลผลิตของข้าวเวียดนามที่ปัจจุบันสามารถปลูกได้ถึง 3 ครั้งใน 1 ปี

.
2. ธสน.ออก 5 โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการฝ่าวิกฤติค่าเงินบาทแข็งค่า

- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)(EXIM BANK) เผยว่า ธสน.ได้ดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทให้แก่ผู้ส่งออก SMEs รวม 5 โครงการ ได้แก่ 1)โครงการช่วยเหลือการทำ Forward Contract สำหรับ SMEs ที่มีหลักประกัน 2)โครงการสนับสนุนหลักประกันในการทำ Forward Contract  

.

โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน 3)โครงการสินเชื่อ Packing Credit ผู้ส่งออกสามารถได้รับสินเชื่อหมุนเวียนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4)โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ส่งออกจะได้รับสินเชื่อระยะปานกลาง วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท 5)โครงการสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกสามารถขอสินเชื่อหมุนเวียนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบของเงินบาทแข็งค่าของ ธสน. คาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าให้แก่ผู้ส่งออกรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนที่สูง

.

อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตร อาหารทะเลกระป๋อง ไก่สดแช่แข็งและปรุงสุก หัตถอุตสาหกรรม และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ทั้งนี้ ล่าสุดค่าเงินบาท ณ วันที่ 8 พ.ย.53 อยู่ที่ 29.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นจากต้นปีร้อยละ 10.76 และดัชนีค่าเงินภูมิภาคอยู่ที่ 105.87

.

3. ส่งออกไต้หวันขยายตัวติดต่อกันครบ 1 ปี

- กระทรวงการคลังไต้หวันเปิดเผยตัวเลขการส่งออกไต้หวันเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 21.9 ต่อปี  เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 17.5 ต่อปี  โดยการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก ขยายตัวดีที่ร้อยละ 17.2 34.4 และ 17.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 27.9 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.0 ต่อปี

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไต้หวันที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 12 เดือน  เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวมาจากสภาวะถดถอยจากวิกฤตการเงินในประเทศโลกตะวันตกตั้งแต่ช่วงปลายปี 51 แล้ว  โดยการส่งออกที่ขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นเครื่องยืนยันว่าอุปสงค์จากทั้งสองตลาดยังคงดีอยู่ ท่ามกลางภาคการเงินที่ยังคงผันผวน  

.

ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวดีของไต้หวัน ย่อมจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังไต้หวันด้วย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 53 ไทยส่งออกไปไต้หวันด้วยมูลค่า 2293 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของมูลค่าการส่งออกรวม  โดยสินค้าส่งออกหลักคือแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง