เนื้อหาวันที่ : 2010-11-04 18:29:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1489 views

EU ออกกฎเข้ม EuP อุตฯไทยพร้อมหรือยัง

EU ขยับออกประกาศกฎระเบียบคุมเข้มผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ทั่วโลกต้องเร่งหามาตรการรับมือ แข่งขันกันเพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด EU กันอย่างเข้มข้น

.

EU ขยับออกประกาศกฎระเบียบคุมเข้มผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ทั่วโลกต้องเร่งหามาตรการรับมือ แข่งขันกันเพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด EU กันอย่างเข้มข้น

.

ทุกครั้งที่สหภาพยุโรป หรือ EU ขยับตัวโดยออกประกาศกฏระเบียบว่าด้วยเรื่องต่างๆ ทั้งก่อนและหลังข้อบังคับเกิดขึ้น ย่อมเกิดแรงสั่นสะท้านสะเทือนไปทั่วโลก กฏระเบียบว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงาน (Energy Using Products: EuP) ก็เช่นกัน แม้จะมีการบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2548          

.

แต่ผู้ประกอบการบางกลุ่มยังอยู่ในช่วงปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อบังคับ เพื่อรักษาตลาด EU ที่ถือเป็นเจ้าแห่งการออกกฎระเบียบ ที่มีหมุดหมายปลายทางเพื่อปกป้องผู้บริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกเป็นสำคัญ

.

EuP เป็นกฎที่ว่าด้วยเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลตลอดสายการผลิตตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้า และวัฏจักรชีวิตของสินค้า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้งาน ดังนั้น เมื่อกฎระเบียบนี้เกิดขึ้น ทั่วโลกจึงต้องเร่งหามาตรการตั้งรับ โดยมีการวางนโนบายการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ เพื่อรักษาตลาดหลักนี้ไว้ต่อไป

.

ประเทศจีน ดินแดนมังกร ผู้สร้างเซอร์ไพรส์ด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเบียดแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ไปแล้ว ได้ขานรับข้อบังคับของ EuP เช่นกัน โดยประมาณปี 2007 หรือปี 2550 จีนได้มีการออกกฎข้อบังคับที่มีความสอดคล้องกับ EuP    

.

เพื่อเพิ่มการป้องกันผลกระทบการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ออกไปยังต่างประเทศ และเมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในการประกาศของรัฐบาลจีนในการเตรียมส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อช่วยยกระดับการส่งออก       

.

ซึ่งจีนต้องพยายามให้มากขึ้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ชั้นดีสำหรับผู้บริโภคระดับสูง รวมถึงพัฒนาคุณภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวมีส่วนแบ่งในการส่งออกมากขึ้น โดยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมประหยัดพลังงานในการรุกสู่ตลาดโลก และส่งเสริมบริษัทที่ลงทุนในต่างประเทศ

.

ข้อบังคับของ EuP จะโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎระเบียบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าบริษัทในประเทศไทยบางบริษัทจะไม่ได้มีการค้ากับสหภาพยุโรป

.

แต่ผลกระทบจากกฎระเบียบ EuP จะอยู่ในลักษณะของห่วงโซ่อุปทานไปยังผู้ประกอบการทั่วโลก (Global Supply Chain) เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) แม้จะไม่ได้ผลิตสินค้าส่งให้ EU โดยตรง แต่จะทำการส่งสินค้าให้กับบริษัทต่างประเทศ ซึ่งทำการค้ากับ EU ย่อมส่งผลกระทบสู่ประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

จากการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบของระเบียบ EuP ต่อประเทศไทยในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม พบว่าการดำเนินการตามระเบียบ EuP สำหรับผลิตภัณฑ์โดยส่วนใหญ่จะส่งผลในเชิงบวกต่อสภาวะแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งแม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตปัจจุบันจะสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าเทคโนโลยีเดิม          

แต่ด้วยมาตรฐานที่ต้องสูงขึ้นจึงถือได้ว่าเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่ยังไม่สามารถครอบคลุมทั่วถึงตามกฏระเบียบ EuP นอกจากนั้น หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ เมื่อมีการปรับใช้กฎระเบียบ EuP พบว่า ผลิตภัณฑ์โดยส่วนใหญ่ต้องแบกภาระในด้านราคาต้นทุนการผลิตของผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับกฎระเบียบข้อบังคับของประเทศคู่ค้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองยังต้องเดินหน้าต่อไป โดยจะนำผลที่ได้จากการศึกษาระเบียบข้อบังคับ EuP จากกรณีของประเทศคู่ค้าอื่นๆ และการเปรียบเทียบกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย          

เพื่อเป็นการวางนโยบายและหาแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงและการบังคับใช้กฏระเบียบให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป 

การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องคำนึงถึงกฏระเบียบของประเทศคู่ค้าให้มากๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจก้าวไปอย่างไม่สะดุด การจะค้าขายกับ EU ก็เช่นกัน ยุคนี้สิ่งแวดล้อมต้องมาก่อน ดังนั้น การจะเป็นคู่ค้ากับ EU ตราบนานเท่านาน จำเป็นอย่างยิ่งต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับทิศทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม