เนื้อหาวันที่ : 2010-11-02 10:57:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 608 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 2 พ.ย. 2553

1. กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 0.28 ต่อปี

-  กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค.53 อยู่ที่ 108.52 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 0.03 จากเดือนก่อนหน้า  ส่งผลให้ CPI ช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมสินค้าอาหารสดและพลังงานอยู่ที่ 103.83 ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี ทั้งนี้ พณ.และธปท. คาดว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมจะไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อมากนักและไม่หลุดกรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนต.ค.53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปรับราคาสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี ได้แก่ ดัชนีหมวดข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

.

สะท้อนว่าการขยายตัวเศรษฐกิจด้านการบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานพืชผลทางการเกษตรที่จะขาดแคลน และจะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพ.ย. 53 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเงินเฟ้อปี 53 และ 54 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 และ 3.5 ต่อปี ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ ก.ย. 53)

.

2. ธปท.ยันไม่ออกมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์

-  ธปท.ยันขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์หรือผู้บริโภคที่ต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสัญญาณปัญหายังไม่ชัดเจน และไม่เกิดภาวะฟองสบู่ แต่จำเป็นต้องจับตาใกล้ชิด และดูแลให้การปล่อยกู้สินเชื่อมีคุณภาพ

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดการลงทุนในการก่อสร้างภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของการลงทุนในภาคเอกชนทั้งหมด พบว่าถึงแม้มีการขยายตัวต่อเนื่องนับจากต้นปี 53 เป็นต้นมา โดยขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี ในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณที่แผ่วลง

.

สะท้อนจากยอดขายปูนซีเมนต์ที่ชะลอตัวลงมาขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 ต่อปี จากร้อยละ 11.1 ต่อปี ในไตรมาส 2 สะท้อนว่าภาคอสังหาฯน่าจะยังไม่เกิดปัญหาฟองสบู่ในระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะในประเด็นด้านราคา ปริมาณ การเก็งกำไร หรือภาระหนี้ภาคครัวเรือนก็ตาม

.

3. อุตสาหกรรมจีนขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน

-  สำนักงานสถิติจีน เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม(Manufacturing PMI) ในเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 54.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.8 สอดคล้องกับดัชนีที่จัดทำโดย HSBC ที่อยู่ที่ระดับ 54.8 เพิ่มขึ้นมากจากระดับ 52.9 ในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมจีนที่ยังคงแข็งแกร่ง

.

-  สศค.วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินหยวนแข็งค่า โดยดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่อยู่ในระดับสูง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

.

อย่างไรก็ตาม ยอดคำสั่งสินค้าส่งออกเริ่มขยายตัวชะลอลงสะท้อนกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัวจากทั้งปัจจัยค่าเงินและเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวสูงย่อมส่งผลดีต่อไทย

.

ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 53 ไทยส่งออกไปยังจีนถึงร้อยละ 10.8 ของมูลค่าส่งออกรวมทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก โดยอุตสาหกรรมของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนสูง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพารา และเคมีภัณฑ์ น่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมจีนอีกด้วย

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง