เนื้อหาวันที่ : 2010-11-02 10:28:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 559 views

ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติด้านมาตรวิทยา

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ แถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติด้านมาตรวิทยา

.

.

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการมาตรวิทยาในระดับภูมิภาค The 26th Asia Pacific Metrology Programme (APMP) ในระหว่างวันที่ 14-20 พฤษจิกายน 2553 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Measurement Confederation (IMEKO) ในระหว่างวันที่ 21-25 พฤษจิกายน 2553 ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ. ชลบุรี

.

พล.อ.ต. ดร. เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กล่าวว่า “APMP คือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในเขตภูมิภาคเอเชียและภาคพื้นแปซิฟิก ในเรื่องของมาตรฐานการวัดในระดับภูมิภาค โดยวัตถุประสงค์หลักของ APMP คือ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างสมาชิกในด้านมาตรฐานการวัดภายในภูมิภาค

.

ยกระดับความสามารถด้านมาตรวิทยาของประเทศสมาชิก สนับสนุนให้เกิดการสอบกลับในทางการวัด และสร้างการยอมรับในระดับสากล ปัจจุบันมีสมาชิก 28 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย  

.

โดยในแต่ละปี APMP จะจัดให้มีการประชุมเชิงวิชาการมาตรวิทยาประจำปี เพื่อติดตามการดำเนินงานและพิจารณารับฟังข้อคิดเห็นต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 11 สาขาการวัด รวมทั้งการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาชิก (General Assembly) ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 เป็นการจัดการประชุมประจำปีขององค์กรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 26 ในประเทศไทย”

.

การเป็นเจ้าภาพการประชุมทั้ง APMP และ IMEKO นี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับวงการมาตรวิทยาของไทย เนื่องจากจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรวิทยาจากประเทศชั้นนำต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มาร่วมถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีการวัดในแต่ละสาขา เช่น สาขามิติ สาขาไฟฟ้า สาขาความดัน และสาขาเสียง เป็นต้น

.

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทั้ง 2 การประชุมนี้จึงมีประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศไทยหลายประการ ได้แก่ ประการแรก การสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตานานาชาติ 

.

ประการที่สอง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจะได้เผยแพร่ทั้งทางด้านวิชาการและขีดความสามารถด้านการวัด เพื่อให้นานาชาติได้ประจักษ์ถึงศักยภาพด้านการวัดของประเทศไทย และความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านมาตรวิทยาในภูมิภาคนี้

.

ประการที่สาม เป็นโอกาสที่ดีที่นักวิชาการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้สนใจด้านเทคโนโลยีการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบ จะได้เรียนรู้วิธีการและรับทราบความก้าวหน้าทางวิชาการมาตรวิทยาและเทคโนโลยีการวัดใหม่ ๆ ในระดับนานาชาติ

.

ประการที่สี่ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการบูรณาการที่ดีสำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายด้านมาตรวิทยาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และประการสุดท้าย เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงกิจกรรมของงานด้านมาตรวิทยาและภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติครั้งนี้