เนื้อหาวันที่ : 2010-11-01 17:41:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2028 views

ราชบุรีโฮลดิ้ง ลุยลงทุน 6 โครงการรวด

ราชบุรีโฮลดิ้ง ฟุ้งฐานะการเงินแข็งแกร่งพร้อมรองรับการลงทุนต่อเนื่อง เร่งพัฒนา 4 โครงการ พร้อมลงทุนเพิ่มอีก 2 โครงการใน สปป.ลาว

.

ราชบุรีโฮลดิ้ง ประกาศกำไรสุทธิ 9 เดือนแรก 4,235 ล้านบาท ฐานะการเงินแข็งแกร่งพร้อมรองรับการลงทุนต่อเนื่อง ด้วยเงินสดในมือกว่า 10,000 ล้านบาท และกำไรสะสมอีกกว่า 30,000 ล้านบาท  เร่งพัฒนา 4 โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนามีมูลค่าลงทุนรวม 73,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนเพิ่มอีก 2 โครงการในสปป. ลาว รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้ง 6 โครงการ 4,838 เมกะวัตต์ 

.

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง แถลงผลการดำเนินงานบริษัทฯ และบริษัทย่อย รอบ 9 เดือนประจำปี 2553 (มกราคม-กันยายน) ฉบับก่อนสอบทาน มีกำไรสุทธิ 4,235 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.92 บาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 23.79 เนื่องจากรายได้ค่าความพร้อมจ่ายลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราค่าความพร้อมจ่ายเฉลี่ยที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่ำกว่าปี 2552 

.

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเร่งพัฒนาโครงการที่ได้ลงทุนแล้วเพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

.

ซึ่งในปลายปีนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ขนาด 615 เมกะวัตต์ ในสปป. ลาวจะสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าขั้นต้นได้ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าหงสาสามารถเบิกเงินกู้งวดแรกได้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 และโรงไฟฟ้าเซเปียนเซน้ำน้อย มีความคืบหน้าตามลำดับ                 

.

ซึ่งทั้ง 4 โครงการนี้เป็นเงินลงทุนในส่วนของบริษัทประมาณ 73,000 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวม 215,670 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ลงทุนไทยที่มีการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในสปป. ลาว มากที่สุด ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 3,323 เมกะวัตต์

.

ความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 ได้ดำเนินการทดสอบการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ชุดที่ 1 และ 2 แล้ว และอยู่ระหว่างทดสอบการเดินเครื่องชุดที่ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม ศกนี้ ส่วนโครงการหงสา ภายหลังประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ 95,000 ล้านบาท                        

.

จากนั้นได้มีการลงนามสัญญาบริการวิศวกรรมและบริหารงานก่อสร้างกับ กฟผ. ซึ่งจะเริ่มงานก่อสร้างโครงการได้ในปี 2554 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 และเซเปียน เซน้ำน้อย อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และเจรจาสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณปี 2554

.

ผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ประจำปี 2553 บริษัท มีรายได้รวมจำนวน 34,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.94 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าในงวด 9 เดือนจำนวน 24,172 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วจำนวน 7,369 ล้านบาท

.

รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมค้า (จำนวน 1,345 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.36 ทว่ารายได้ค่าความพร้อมจ่าย (จำนวน 8,191 ล้านบาท) ซึ่งเป็นรายได้หลักลดลงร้อยละ 18.49 จากปีก่อนหน้า เพราะอัตราค่าความพร้อมจ่าย (Base Availability Credit)เฉลี่ยที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่ำกว่าปี 2552

.

ในงวดเดียวกันนี้ ต้นทุนขาย (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) และค่าใช้จ่ายรวมของบริษัท เป็นจำนวน 5,837 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เป็นผลมาจากความพยายามในการปรับลดต้นทุนทางการเงินทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในงวดนี้ต้นทุนทางการเงิน(จำนวน 507 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 25.59 อีกทั้งต้นทุนขายและบริการและค่าใช้จ่ายในการบริหาร (จำนวน 4,402 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 4.42 ในงวดเดียวกัน 

.

ขณะที่ ภาษีเงินได้ (จำนวน 929 ล้านบาท) ในงวดนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.51 เพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรีครบกำหนดระยะเวลา 6 ปี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

.

สำหรับ ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2553 ก่อนสอบทาน บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,252.71 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 24.39 โดยมีรายได้รวม 11,242 ล้านบาท และต้นทุนขายและบริการและค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 9,517 ล้านบาท 

.

นอกจาก โครงการ 4 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแล้ว บริษัทยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มในโครงการอื่น ๆ ใน สปป. ลาว เพราะ สปป. ลาว มีศักยภาพที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง ปัจจุบันกำลังผลิตติดตั้งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 5,561 เมกะวัตต์          

.

โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทุนอีก 2 โครงการใน สปป. ลาว กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีแผนลงทุนใน ฟิลิปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยมุ่งเน้นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว และเหมืองถ่านหิน คาดว่าในปี 2554 จะสามารถสรุปผลการเจรจาได้สำเร็จ 

.

“บริษัทมีความพร้อมทางการเงินสามารถรองรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ได้อีกมาก เพราะฐานะการเงินที่ยังแข็งแกร่ง โดยเรามีเงินสดในมือจำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท กำไรสะสมจำนวน 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เรายังมีศักยภาพที่จะระดมเงินด้วยการออกหุ้นกู้ ซึ่งบริษัทได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวงเงิน 7,500 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

.

อีกทั้ง ยังมีความสามารถในการจัดหาเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ เพราะอัตราหนี้สินต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำมาก (ระดับ 0.58 เท่า) ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจากสถาบันจัดอันดับเครดิตทริสเรตติ้ง อยู่ที่ระดับ A- ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท” นายนพพล กล่าวปิดท้าย