เนื้อหาวันที่ : 2010-10-29 14:00:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 561 views

ฟรอสต์คาดศก.ฟื้นช่วยดันธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำพุ่งทะยาน

ฟรอสต์ คาดการณ์ เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะช่วยผลักดันธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำให้ทะยานตัวขึ้น

.

ตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC) มีแนวโน้มว่าจะมีการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่งในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว การใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น และ ค่าแรงงานต่ำลง เป็นต้น นอกจากนี้ ความต้องการในการบริการด้านการบินที่เพิ่มสูงขึ้นและการเพิ่มความรวดเร็วในการโหลดจะช่วยให้สายการบินสามารถทำกำไรได้มากขึ้นเช่นกัน 

.

จากรายงานการวิจัยของ ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก เรื่อง “Asia Pacific Low Cost Carrier Market - Market Outlook and Investment Opportunities” พบว่า ตลาดสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งสัญญาณที่ดี      

.

คาดว่าจะได้เห็นการเพิ่มจำนวนของผู้โดยสารเพิ่มจาก116.0 ล้าน คนในปี 2551 มาเป็น 217.0 ล้านคนภายในปี2555 โดยถือว่ามีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 16.9 และจำนวนเครื่องบินทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9

.

มร. อาร์ มาดูสุดานาน กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือการลดลงของค่าเช่าตามสัญญาเช่า ส่งผลให้รายจ่ายต่างๆลดลงทำให้กำไรของสายการบินเพิ่มสูงขึ้น”

.

การเติบโตของตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (Market penetration) ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในปี 2544 มาอยู่ที่ร้อยละ 14 ในปี 2551 ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความต้องการด้านการบริการทางอากาศ และระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

.

แต่ถึงแม้ว่าแนวโน้มของตลาดจะค่อนข้างสดใส แต่ก็ยังตัองเผชิญกับความท้าทายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากรายจ่ายเกี่ยวกับน้ำมันและเชื้อเพลิงคิดเป็นร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดดังนั้น ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจนี้โดยตรง นอกจากนี้การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ดียังส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจนี้อีกด้วย 

.

โดยปกติแล้ว สายการบินต้นทุนต่ำจะดำเนินธุรกิจตามสนามบินในหัวเมืองรอง ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าสนามบินในเมืองหลัก โดยค่าใช้จ่ายสนามบินจะคิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำของภูมิภาคนี้ 

.

โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทในธุรกิจนี้สามารถทำกำไรและรักษางบดุลได้จากการควบคุมค่าใช้จ่ายและหนี้ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในเซ็กเมนต์อื่นๆที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจนี้ อาทิ ส่วนของปัจจัยพื้นฐาน (สนามบินต้นทุนต่ำ) การเช่าซื้ออากาศยาน และธุรกิจการให้บริการทีสนับสนุนธุรกิจนี้ เป็นต้น