เนื้อหาวันที่ : 2010-10-29 11:17:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 600 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 29 ต.ค. 2553

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.13 ต่อปี

-  รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ย.53 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 แม้ว่าต้องเผชิญภาวะการแข็งค่าของเงินบาท แต่ผู้ประกอบการในหลายสาขาอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

.

เนื่องจากได้มีการผลิตตามคำสั่งซื้อล่วงหน้า ที่มีเข้ามาก่อนเกิดภาวะเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายได้มีการประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้วจึงยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในระยะนี้

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่องในเดือน ก.ย. 53  เป็นผลมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของผลผลิตของสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 53 หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกรายย่อยที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเหมือนบริษัทใหญ่ อาจต้องเผชิญกับปัญหาผลการประกอบการที่อาจปรับตัวลดลง ซึ่งสามารถอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมนะยะต่อไปได้  นอกจากนี้ ฤดูกาลส่งออกที่มักจะเริ่มชะลอลงในไตรมาสที่ 4 ผนวกกับสัญญาณการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ สศค. คาดว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 53 อาจขยายตัวชะลอลง

.

2. มูดี้ส์ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากเชิงลบมาเป็นมีเสถียรภาพ

-  บริษัทการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ระดับมีเสถียรภาพ จากระดับเดิมที่เชิงลบ ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทยอยู่ที่ Baa1

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของ บริษัทการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ น่าจะมีผลจากการที่เสถียรภาพทางการเมืองของไทยปรับตัวดีขึ้น และในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่งจากทั้งด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่สูงและเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายในยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

.

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาของปี 53 นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจในการลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยในระดับที่สูง โดยคิดเป็นการไหลเข้าสุทธิกว่า 120 พันล้านบาทและส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปกว่าร้อยละ 10.6 จากช่วงต้นปี

.

3. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 3 ของออสเตรเลียขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี

-  อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ไตรมาสที่ 3 ของออสเตรเลียขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดการไว้ที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี (ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.6 ส่งผลให้มีการคาดการว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน พ.ย. 53

.

-  ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียน่าที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนหน้าไว้ที่ระดับร้อยละ 4.5 จากการที่อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นยังคงอยู่ในกรอบที่ธนาคารกลางออสเตรเลียกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2-3 อย่างไรก็ตามธนาคารกลางออสเตรเลียน่าที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวติดต่อกันในระยะต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

.

หลังจากที่ได้มีการเพิ่มอัตราดังกล่าวถึง 1.5 percentage point ระหว่างเดือน ต.ค. 52 – พ.ค. 53 อันเป็นผลมาจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปแนวโน้การขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจออสเตรเลียจากการส่งออกสินค้าทรัพยกรทางธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินและสินแร่ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ภาคการบริโภคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง