เนื้อหาวันที่ : 2010-10-26 10:51:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1433 views

ก.อุตฯ โชว์ผลงานเด่นปี 53 ฝ่าด่านมาตรการกีดกันทางการค้า

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลงานเพิ่มขีดความสามารถอุตฯไทยในการแข่งขันระยะแรก คลอด 3 มตรการฝ่าด่านมาตรการกีดกันทางการค้า ลั่นพร้อมเดินหน้าต่อเฟสสองเน้นมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

นายชัยวุฒ  บรรณวัฒน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลงานเพิ่มขีดความสามารถอุตฯไทยในการแข่งขันระยะแรก คลอด 3 มตรการฝ่าด่านมาตรการกีดกันทางการค้า ลั่นพร้อมเดินหน้าต่อเฟสสองเน้นมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

.

จากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันเพื่อให้สอดรับกับกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนิน โครงการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับกฎระเบียบของคู่ค้า

.

โดยได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการมาตรการต่างๆ ที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนในการลดปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจด้านการส่งออกกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

.

ผลการดำเนินงานของโครงการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า ระยะที่ 1 (พ.ศ.2551-2553)

.

โครงการฯ ในระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด 5.9 แสนล้านบาทของไทยกับสหภาพยุโรป เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อใช้ในการดำเนินงาน ผูกพัน 3 ปี (พ.ศ.2551-2553) เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 529.45 ล้านบาท โดยผลที่ได้จากการดำเนินงานทั้ง 3 มาตรการในโครงการระยะที่ 1 สรุปได้ดังนี้

.
มาตรการที่ 1 : การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาฐานข้อมูลกฎระเบียบและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม 

1. มีฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สำหรับการศึกษาและติดตามความเคลื่อนไหวของกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า ทั้งที่เป็นกฎระเบียบทั่วไป และกฎระเบียบเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ฐานข้อมูลกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่คอยส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการได้รับทราบและเตรียมปรับตัวได้ทันเหตุการณ์ การจัดทำคลังข้อมูลสารเคมี ที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี ที่จำเป็นต่อการจัดเตรียมข้อมูลตามกฎระเบียบ REACH

.

นอกจากนี้ ยังมีฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำฉลากสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงาน (Life Cycle Industry : LCI) ซึ่งทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในการจัดทำ...และยังช่วยประหยัดงบประมาณในการนำเข้าซอฟแวร์ด้าน LCA ประมาณ 4.2 ล้านบาท ในปี 2553 และประหยัดงบประมาณในการจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศในการทำฉลาก Carbon Foot Print ประมาณ 160 ล้านบาท เป็นต้น

.

2. เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เช่น เครือข่าย Thai-RoHS และเครือข่ายสิ่งทอ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีการเสวนาประเด็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรค ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันต่อกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า                                

.

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ให้คำปรึกษา (Help Desk) ซึ่งช่วยเหลือให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

.
3. มีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม มีการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม และมีการรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไทยให้มีที่ปรึกษา
.

4. สร้างโอกาสทางการค้า ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ ความเข้าใจในการปรับตัวเข้ากับกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม ขณะที่คู่แข่งยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น สมาชิกเครือข่ายอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 54 ราย เป็นต้น

.

มาตรการที่ 2 : การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ

1. ห้องปฏิบัติการทดสอบ มีห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ที่ทันสมัย และบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ 5 แท่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทดสอบของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการทดสอบของสถาบันยานยนต์ ห้องปฏิบัติการทดสอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

.

รวมทั้งห้องปฏิบัติการอีก 2 แห่งคือ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มาให้บริการที่สามารถให้บริการทดสอบสารต้องห้าม สารปนเปื้อนตามกฎระเบียบ RoHS, ELV ทดสอบสมบัติทางเคมี – กายภาพ ตามกฎระเบียบ REACH

.

2. ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาขีดความสามารถ โดยมีการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ด้านกระบวนการผลิต ด้านเทคโนโลยี และการจัดการ รวมทั้งการจัดทำ CE Mark โดยมีคู่มือแนะนำการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า

.

มีการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีการปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขในการขอรับฉลากคาร์บอน (Carbon Foot Print) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนไปสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อมต่อไป รวมทั้งให้บริการฉลากเขียวรับรองผลิตภัณฑ์แก่อุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าฉลากเขียวให้ตลาดภายในประเทศ

.

3. มีคู่มือแนะนำการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คู่มือกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม
4. มีบัญชีรายการด้านสิ่งแวดล้อมตลอดสายโซ่การผลิต ระบบฐานข้อมูลด้านวัสดุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการประเมินจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และประเมินปริมาณรอยเท้าคาร์บอนของผลิตภัณฑ์นำร่อง 9 รายการ

.

5. มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการให้บริการแนะนำ หรือให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ โดยมีหลักสูตรฝึกอบรม/สื่อในการอบรมแบบ e-learning รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อขยายผลไปสู่การผลิตและจำหน่ายต่อไป

.
มาตรการที่ 3 การพัฒนากฎระเบียบ / มาตรฐานและระบบการจัดการซาก
1. กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกกฎหมายหลัก เพื่อปกป้องการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 2 ฉบับคือ
.

1.1 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 3865 (พ.ศ.2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2551 เรื่องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีสารอันตราย : จำกัดใช้สารอันตรายบางชนิด (Thai RoHS)

.

1.2 ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องเงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2550 ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2550

.
 2. จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถระบบจัดการกากอุตสาหกรรม จัดทำแผนแม่บทการจัดการกากอุตสาหกรรม ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถานีรวบรวมและขนถ่ายกากอุตสาหกรรม และจัดทำระบบติดตาม วงจรชีวิตของซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
.

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังเดินหน้าต่อ ด้วยแผนงานโครงการฯ ในระยะที่ 2 ปี 2555-2557 โดยมีแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

.

พร้อมส่งเสริมให้เกิดการใช้สินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศอย่างแพร่หลาย และป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าด้อยคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเร่งให้อุตสาหกรรมไทยบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในอาเซียน