หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,251.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 49.23 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.5 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง |
. |
หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 44.9 พันล้านบาท 3.48 พันล้านบาท และ 1.13 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP |
. |
ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ก.ย. 53 เบิกจ่ายได้จำนวน 192.7 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.1 ต่อปี โดยมีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจำนวน 161.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 21.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -22.1 ต่อปี |
. |
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน ก.ย. 53 ได้แก่ รายจ่ายประจำในส่วนงบเงินเดือนและค่าจ้างจำนวน 39.2 พันล้านบาท งบดำเนินงานจำนวน 28.1 พันล้านบาท และงบการบริหารหารชำระหนี้ของกระทรวงการคลังจำนวน 53.6 พันล้านบาท |
. |
ทั้งนี้ รายจ่ายรัฐบาลรวมทั้งปีงบประมาณ 53 สามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้น 1,784.4 พันล้านบาท โดยรายจ่ายประจำปีงบประมาณเบิกจ่ายได้จำนวน 1,627.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 95.8 ของกรอบวงเงินงบประมาณ (1.70 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 94 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายสูงกว่าเป้าหมาย |
. |
นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 15 ต.ค. 53 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้น 237.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 67.7 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท |
. |
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ย. 53 ดุลงบประมาณเกินดุลจำนวน 39.6 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -4.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลเกินดุลจำนวน 35.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังทั้งปีงบประมาณ 53 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณจำนวน -100.8 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 3.7 พันล้านบาท |
. |
ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -97.1 พันล้านบาท ซึ่งการขาดดุลดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสูงกว่าเป้าหมาย ในขณะที่รัฐบาลมีการกู้เงินตามกรอบการขาดดุล ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 53 อยู่ในระดับสูงถึง 429.3 พันล้านบาท |
. |
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 53 หดตัวที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง เนื่องจากปัญหาโรคระบาด ศัตรูพืช ในขณะที่ผลผลิตยางพาราขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง |
. |
ส่วนผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี จากผลผลิตไก่เนื้อเป็นสำคัญ ตามราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า |
. |
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ 26.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 31.1 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |