กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเรียกผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้ไปตลาดอียูเข้าหารือ 26 ตุลาคมนี้ หลังอียูตรวจพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในสินค้าผักของไทย พร้อมหามาตรการลดการสุ่มตรวจคุณภาพสินค้า หวั่นขนส่งล่าช้าทำให้สินค้าเน่าเสียหายได้ง่าย |
. |
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 26 ตุลาคมนี้ จะเชิญผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้สดไปในตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เข้าหารือ เนื่องจากประเทศสมาชิกอียูได้ตรวจพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในสินค้าผักของไทย 3 รายการ ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักในตระกูลมะเขือ และผักตระกูลกะหล่ำ |
. |
ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอียูใช้มาตรการเข้มงวดสุ่มตรวจสอบผักจากไทยร้อยละ 50 จากเดิมร้อยละ 10 ของผักใน 3 รายการดังกล่าว ซึ่งการหารือในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของผักสดและลดการสุ่มตรวจรายการให้น้อยลง |
. |
เพราะหากมีการสุ่มตรวจผักและผลไม้กว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าส่งออก จะส่งผลให้ผักและผลไม้เกิดความเสียหายได้ ขณะเดียวกันอียูยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มรายการสินค้าผักสดจากไทยที่ต้องได้รับการตรวจสอบ อาทิ ผักชี ใบกะเพรา โหระพา และใบสะระแหน่ โดยใช้มาตรการตรวจเข้มที่ระดับร้อยละ 20 เพื่อตรวจหาสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง และใช้มาตรการตรวจเข้มที่ระดับร้อยละ 10 เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ |
. |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากมาตรการดังกล่าวที่เข้มข้นขึ้น จะทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าและทำให้สินค้าเน่าเสียหายได้ง่าย รวมทั้งสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้น และผู้ประกอบการบางรายหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นหรือซื้อสินค้าผักประเภทอื่นทดแทน ซึ่งอาจส่งผลให้การประกอบอาหารไทยสูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นไทย |
. |
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวภาครัฐควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการส่งออกใบอนุญาตของผู้ส่งออกไทยและมีมาตรการที่เข้มงวดกับผู้ส่งออกที่มีประวัติไม่ดี รวมถึงควรพิจารณาความเป็นไปได้ ในการออกหนังสือรับรองผู้ส่งออกของไทยที่สินค้าได้มาตรฐานอียู |
. |
ขณะที่ภาคเอกชนควรมีธรรมาภิบาล และค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับภาครัฐในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร ผู้ปลูก ผู้บรรจุ และร่วมกันรักษามาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของตลาดอียูในระยะยาว |
. |
ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย |