กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ผลงานวิจัยเด่น 5 นวัตกรรมเส้นใยฝีมือคนไทย หนุนใช้วัสดุในประเทศ ลดนำเข้า เพิ่มมูลค่าสินค้าพัฒนาสู่อุตสาหกรรม
. |
กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ผลงานวิจัยเด่น 5 นวัตกรรมเส้นใยฝีมือคนไทย หนุนใช้วัสดุในประเทศ ลดนำเข้า เพิ่มมูลค่าสินค้าพัฒนาสู่อุตสาหกรรม |
. |
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอมีการแข่งขันสูง ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะฝ้ายก็ขยับสูงขึ้น รวมทั้งค่าแรงของไทยก็สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค |
. |
ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการปรับตัวทั้งด้านคุณภาพ บริการ รวมทั้ง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งทอให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะหลังเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 |
. |
จากความสำคัญดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา |
. |
โดยแบ่งเป็น 2 โครงการคือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) ด้านเทคโนโลยีใหม่เพื่ออุตสาหกรรมและวิศวกรรม และโครงการการนำผลวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Textiles) และต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอยุคใหม่ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง |
. |
โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2553 สรุปมีผลงานนวัตกรรมสิ่งทอรวมมากถึง 22 ผลิตภัณฑ์ อาทิ การพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนสัญชาติไทย การพัฒนาเส้นใยกล้วย เส้นใยผสมผงถ่านกะลามะพร้าว เส้นใยผสมผงถ่านแมคคา เป็นต้น |
. |
สำหรับงานวิจัยในปี 2553 นี้ สถาบันฯ ยังคงมีเป้าหมายการทำงานวิจัยและพัฒนา เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยพัฒนาจากวัสดุธรรมชาติหรือของเหลือใช้ รวมไปถึงการใช้วัตถุดิบทางด้านชีวภาพ หรือ Bio material ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ประยุกต์สู่อุตสาหกรรมเส้นใย ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของสิ่งทอ ประกอบไปด้วย ผลงานนวัตกรรมเส้นใย 5 ประเภท โดยพัฒนาภายใต้โครงการดังต่อไปนี้ |
. |
1) โครงการ การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยชีวภาพ PLA นำร่องผลิต ผ้าห่มนวม เสื้อ และ ผ้าปิดจมูก |
. |
Polylactic Acid (PLA) ผลิตจากพืชที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยนำมาผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างให้เป็นสารใหม่ที่มีโครงสร้างทางเคมีเป็นวงแหวนเรียกว่า lactide หลังจากนั้นนำมากลั่นในระบบสุญญากาศเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างได้เป็นพอลิเมอร์ของ lactide ที่เป็นสายยาวขึ้น เรียกว่า Polylactic Acid (PLA) |
. |
ทำให้ PLA มีสมบัติพิเศษคือมีความใส ไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้เองเมื่อนำไปฝังกลบในดิน ในงานวิจัยครั้งนี้จึงได้นำมาเข้ากระบวนการฉีดเส้นใย ผลิตเป็นผืนผ้า และกระบวนการผลิตผ้าไม่ทอ (Nonwoven) |
. |
2) โครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ใช้ภายนอกอาคารด้วยเทคโนโลยีการผลิตภายในประเทศ นำร่องผลิต ตัวอย่างโครงสร้างหลังคาสนามฟุตบอล |
. |
โครงการนี้เป็นความพยายามในการผลิตเส้นใยที่ใช้ในการผลิตผ้าชนิดโมโนฟิลาเมนต์ขึ้นใช้เองภายใน ประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยใช้วัตถุดิบคือ โพลิเอทธิลีน ได้ใช้กระบวนการฉีดเส้นใยแบบหลอมเหลว (Melt spinning) และใช้สาร Photochromic dye ซึ่งมีสมบัติในการทำให้เส้นใยเปลี่ยนสีได้เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสง UV |
. |
ซึ่งสามารถนำไปใช้ในงานสถาปัตยกรรมใหม่ที่เน้นการใช้วัสดุโครงสร้างเบา (Light Weight Structures) เช่น สิ่งทอที่ใช้ภายนอกอาคารเพื่อบังแดด ลม ใช้กับการเกษตรในแปลงเพาะปลูก เป็นต้น |
. |
3) โครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีสมบัติพิเศษจากเส้นใยฝ้ายสีพันธุ์ไทย นำร่องผลิต ชุดผ้าฝ้ายสีธรรมชาติลดโลกร้อน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกแบบและตัดเย็บด้วยเส้นใยฝ้ายสี |
. |
เส้นใยฝ้ายซึ่งมีสีในตัวเอง เช่น สีเขียว สีตุ่นน้ำตาล ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ซึ่งจะทำให้การนำมาผลิตจะลดกระบวนการย้อมสี ทำให้กระบวนการผลิตมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในโครงการนี้ได้นำผ้าฝ้ายดิบนำไปผ่านกระบวนการเตรียมและตกแต่งเพื่อทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยผ้าผ่านกระบวนการ scouring ในสภาวะด่างเพื่อกำจัดสิ่งสกปรก |
. |
จากนั้นจึงทำการตกแต่งผ้าด้วยสาร poly(hexamethylene biguanide hydrochloride) หรือ PHMB เพื่อเพิ่มสมบัติการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และตกแต่งด้วยสารทำนุ่ม (softening agent) และสารตกแต่งว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) ซึ่งมีสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้น แล้วนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์อนามัย คือ ผ้าปิดปากอนามัย และผ้าพันคอ และตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเด็ก ชุดชั้นในชายและเสื้อสตรี |
. |
4) โครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นใยตาลในเชิงอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำร่องผลิต ชุดสูท ชุดยูนิฟอร์ม และผลิตภัณฑ์ Home textiles ได้แก่ ชุดผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน |
. |
ตาลโตนดเป็นพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ทั่วไปตามภูมิภาคของประเทศ และเส้นใยตาลเป็นส่วนของเยื่อหุ้มผลตาลที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีแนว ความคิดในการสร้างมูลค้าเส้นใยตาลเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากเส้นใยตาลที่ได้เป็นองค์ความรู้ใหม่ และแตกต่างจากนำเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ ที่มีอยู่ |
. |
นอกจากนั้นผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า เส้นใยตาลที่ได้มีความโดดเด่น เป็นผ้าที่มีเส้นใยอยู่รวมกันเป็นหมู่และมีเนื้อเยื่อเหนียวกว่าใยฝ้าย 2-3 เท่า มีความมันเหมือนใยไหม ดูดซึมน้ำได้ดี ทนแสงและความร้อนได้ดีเหมือนใยฝ้าย ที่สำคัญมีความคงทนต่อ การขัดถู เส้นใยยาว เหนียว ระบายความร้อนได้ดี |
. |
5) โครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นใยข่าในเชิงอุตสาหกรรมและการพัฒนาเส้นด้ายต้นแบบจากใยข่า นำร่องผลิต ชุดสูท ผ้าคลุมอาบน้ำ (เหมาะสำหรับธุรกิจสปา) ผ้าม่าน |
. |
ในส่วนลำต้นของข่าที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ การศึกษาวิจัยนี้จึงสนใจที่จะศึกษาการใช้เส้นใยจากลำต้นข่า โดยการนำมาพัฒนาเป็นวัสดุสิ่งทอ คือ เส้นใย เส้นด้ายและผ้าผืน ได้ใช้ลำต้นของข่าที่มีอายุประมาณ 7 เดือน – 1 ปี เหง้าของข่านำไปใช้ประโยชน์ |
. |
ส่วนลำต้นนั้นจะถูกนำไปทิ้งไม่มีค่าและยังอาจเกิดการเน่าเหม็น หรือเป็นแหล่งก่อให้เกิดสิ่งสกปรกได้ และยังมีการนำลำต้นของข่าที่ตัดทิ้งไปเผาซึ่งจะเป็นการก่อให้เกิดมลพิษกับธรรมชาติอีกด้วย ผู้วิจัยจึงประสงค์ที่จะนำวัตถุดิบส่วนลำต้นของข่าที่เหลือนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอจากเส้นด้ายพิเศษใยผสมข่าฝ้าย คือ เสื้อคลุมอาบน้ำใช้ในสปา ผ้าคุมไหล่ ผ้าพันคอ เสื้อสูท หมอนอิง และผ้าม่าน |
. |
โดยผลงานวิจัยเส้นใยทั้งหมดนี้ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดีไซน์เนอร์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย ได้นำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร้ขีดจำกัด |
. |
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม |