เนื้อหาวันที่ : 2010-10-20 12:09:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1250 views

ครม. เปิดไฟเขียวตั้ง IPC

คลังเผยครม.หนุนจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ มั่นใจมาตรการภาษีนี้ไม่ทำให้รัฐเสียรายได้แน่นอน

.

คลังเผยครม.มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศแล้ว มั่นใจมาตรการภาษีนี้ไม่ทำให้รัฐเสียรายได้แน่นอน

.

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 19 ต.ค. 2553 ว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ (International Procurement Center : IPC)  ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง

.

โดยมีสาระสำคัญ คือลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือร้อยละ 15 สำหรับกำไรสุทธิให้แก่ศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรายได้จากการซื้อและขายสินค้านอกประเทศไทยให้แก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย (Out-Out Transaction) และรายได้จากการขายวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้แก่วิสาหกิจในเครือ ประเภทโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย (In-Out Transaction)

.

ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญระดับสูงเหลือร้อยละ 15 เป็นจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกัน สำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานที่คนต่างด้าวได้รับจากการทำงานในศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ รวมทั้งให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานที่คนต่างด้าวนั้นถูกส่งไปทำงานในต่างประเทศ

.

ซึ่งการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีของคนต่างด้าวนี้ ศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ จะต้องมีรายได้จากธุรกรรมที่ได้สิทธิประโยชน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ที่ได้สิทธิประโยชน์รวมกับรายได้จากการขายวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้แก่วิสาหกิจในเครือเพื่อการผลิตในประเทศ

.

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ กล่าวว่า “มาตรการภาษีนี้ จะช่วยสนับสนุนการประกอบธุรกรรมจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อใช้ประกอบการผลิตสินค้าในกลุ่มบริษัท และส่งเสริมการลงทุนด้านการผลิตซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นการต่อยอดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) ซึ่งมุ่งทางด้านการบริการ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการผลิตและการให้บริการของภูมิภาคอย่างครบวงจร”

.

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การให้สิทธิประโยชน์แบบ out-out จะไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกประเทศซึ่งปัจจุบันมีส่วนน้อยที่บันทึกบัญชีในประเทศไทย การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในครั้งนี้จะส่งเสริมให้มีการนำรายได้ในส่วนนี้มาบันทึกบัญชีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

.

ส่วนการให้สิทธิประโยชน์แบบ in-out จะเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทในเครือในต่างประเทศใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการส่งออกของประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอย่างยั่งยืน และรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว”