เนื้อหาวันที่ : 2010-10-20 10:54:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1277 views

ก.อุตฯ เร่งถกเอกชน ระดมกึ๋นพัฒนาอุตฯไทย

"ชัยวุฒิ" รมว.อุตสหกรรม หารือภาคเอกชน 3 สถาบัน เร่งระดมสมองพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เล็งผุดอุตสาหกรรมต้นน้ำในประเทศ รองรับประชาคมอาเซียน

นายชัยวุฒิ  บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

"ชัยวุฒิ" รมว.อุตสหกรรม หารือภาคเอกชน 3 สถาบัน เร่งระดมกึ๋นพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เล็งผุดอุตสาหกรรมต้นน้ำในประเทศ รองรับประชาคมอาเซียน

.

นายชัยวุฒิ  บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหารือภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อระดมความคิดเห็น หาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

.

การหารือในครั้งนี้มีการพูดคุยถึงเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักให้มีการลงทุนในประเทศ ว่าไทยจะส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหนักประเภทใดบ้าง อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ  โดยขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อยู่ระหว่างการศึกษาความสามารถในการรองรับมลภาวะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและการศึกษาโครงการเหล็กต้นน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้

.

หากพิจารณาแล้วไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ก็จะต้องหาพื้นที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมืองทวาย ประเทศพม่า และเกาะกง ประเทศกัมพูชา ทดแทน

.

ทั้งนี้จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความผันผวนทางการเงิน และการเคลื่อนย้ายตลาดทุน รวมถึงการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้เอเชียมีบทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้น การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาสินค้า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

.

นอกจากนี้การที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงเป็นผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมาก การแสวงหาตลาดใหม่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือนร้อนได้

.

ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็มีมาตรการช่วยเหลือด้านภาษี สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และสนับสนุนงบประมาณให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเรียงลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ

.

นอกจากนี้การที่จะก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2558  ก็มีความจำเป็นต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมใดจะมีบทบาทให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมใดมีความสามารถน้อย ก็ต้องถอยอย่างเป็นระบบ

.

และในขณะเดียวกันไทยก็ต้องรู้จักใช้ความเป็นประชาคมอาเซียนให้เป็นฐานในการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยเป็นบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงการคลังที่จะต้องหามาตรการส่งเสริม