เนื้อหาวันที่ : 2010-10-19 09:50:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1333 views

ไทยกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือถอยหลังเข้าคลอง?

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาต้องแลกมาด้วยชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เสียไป

ผู้เขียน: ธารา บัวคำศรี ผู้แทนประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกฉียงใต้

.

.

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมานั้นแลกมาด้วยชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่เสียไป การแข่งขันเพื่อมุ่งสู่ “ความก้าวหน้า” ของประเทศเริ่มต้นในช่วงปี พ.ศ. 2513 ด้วยการทำลายป่าเพื่อไม้สักและไม้อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

.

ตามมาด้วยการขยายตัวของเกษตรอุตสาหกรรมเช่น การเร่งปลูกข้าวและยางพารา ต่อเนื่องด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่เป็นพิษและอันตรายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2533 และ 2543

.

รูปแบบการพัฒนากระแสหลักที่ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ต้องแลกมานี้ ได้ละเลยผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุดของประเทศไป กล่าวคือ พลเมืองไทยและชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้มาตรการทางกฎหมายและการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า การพัฒนาลักษณะนี้ ได้บั่นทอนคุณภาพอากาศ น้ำ พื้นที่ทางการเกษตร และอ่าวไทยที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรอาหารทางทะเล นับเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชนชนไทยกว่าล้านชีวิต

.

ณ ขณะนี้ ศูนย์กลางการพัฒนาในรูปแบบที่กล่าวมา คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531  นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของรัฐ นิคมอุตสาหกรรมที่ประกอบไปด้วยโรงกลั่นและคัดแยกปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผลิตสารเคมีทางการเกษตร พลาสติก พีวีซี เหล็กและเหล็กกล้า และโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ถูกรัฐบาลโฆษณาไว้อย่างสวยงามว่าจะเป็นกลจักรสำคัญที่จะนำพาเศรษฐกิจของชาติให้เคลื่อนไปข้างหน้า

.

แต่ประชาชนคนไทยนับหมื่นที่อาศัยในบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกลับมองเรื่องราวนี้ต่างไป เพราะพวกเขาเหล่านั้นกำลังเอาชีวิตของตนเองเข้าเสี่ยง แม้กระทั่งเพียงขณะสูดลมหายใจ อันเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์

.

มาบตาพุดน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในประเทศไทย การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมหลายแห่งในบริเวณดังกล่าว นำมาซึ่งปัญหาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย เช่น มลพิษอากาศ การปนเปื้อนของสารเคมีในบ่อน้ำตื้น การแพร่กระจายของสารอินทรีย์ระเหยในอากาศ และการขาดแคลน แย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปัญหาเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้

.

เหตุอุบัติของผู้ป่วยโรคมะเร็งในพื้นที่มาบตาพุดสูงกว่าพื้นที่ใดๆ ในประเทศ จากการศึกษาของกรีนพีซเมื่อ พ.ศ. 2548 พบว่าผู้คนในมาบตาพุดกำลังหายใจเอาอากาศที่มีส่วนผสมของสารเคมีเป็นพิษนานาชนิด หลายชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่พบในความเข้มข้นสูงกว่ามาตรฐานที่ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 60 ถึง 3,000 เท่า

.

การศึกษาของกรีนพีซในปีเดียวกัน ทำการวิเคราะห์เถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ซึ่งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พบการปนเปื้อนของสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว สารหนู และนิกเกิล  ทั้งนี้ การขยายตัวของโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นในมาบตาพุด ยังเป็นตัวการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างรุนแรง

.

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่แสดงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวมา มิได้ทำให้บทบาทของมาบตาพุดในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจลดน้อยลงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้กำลังเร่งขยายตัว และที่แย่ไปกว่านั้น รัฐบาลยังส่งสัญญาณกระตือรือร้นที่จะเลียนแบบ “ความสำเร็จ” ของมาบตาพุดในพื้นที่อื่นๆ ด้วยแผนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะเดียวกัน รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศ

.

แผนการเหล่านี้ยังเดินหน้าต่อไป ในขณะที่ปัญหาต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการอันเป็น “จุดขาย” นี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งสถานการณ์นี้นับเป็นแรงกดดันอย่างหนักต่อรัฐบาล ว่าต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับผลประโยชน์และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนไทย

.

กรณีมาบตาพุดแสดงให้เราเห็นว่าการมุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไม่ยั้งของรัฐบาลไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สกปรก โดยมีผู้รับเคราะห์คือทรัพยากรต่างๆที่เป็นหัวใจสำคัญต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรเหล่านี้ กล่าวคือ วิถีชีวิตของประชาชนและสุขภาพ และระบบนิเวศทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นพื้นฐานการดำรงอยู่ของชีวิต ต้องถูกบังคับให้เสียสละเพื่อความรุ่งเรืองชั่วคราวและผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆในสังคม

.

เป็นที่ชัดเจนว่าการพัฒนาที่เป็นอยู่ในรูปแบบนี้ ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน แท้จริงแล้ว ความเชื่อที่ว่าสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับความก้าวหน้า เป็นสาเหตุอันน่ากลัวที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญในขณะนี้  และยังเป็นวิธีคิดที่ผลักให้ประเทศชาติเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของความยากจนและความเสื่อมถอยทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นแนวทางตรงกันข้ามกับแนวคิดการพัฒนาใดๆ

.

แต่ประเทศไทยสามารถหลุดจากวงจรนี้ได้ หากเรายอมรับว่ายังมีรูปแบบการพัฒนาอื่นๆที่ยั่งยืนและเป็นธรรม   รูปแบบการพัฒนาซึ่งชุมชนท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศกำลังเรียกร้องและเร่งให้เกิดขึ้น จากนครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี จนถึงระยอง ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเปลี่ยนไปสู่แนวทางการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

.

วิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้เป็นโอกาสให้เราหันมาวางรากฐานทางเศรษฐกิจใหม่ เพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นธรรมมากขึ้น กระนั้น ความเป็นไปได้ก็ยังอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าเราต้องวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยึดหลักการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน 

.

ในการที่จะหลีกเลี่ยงหายนะต่อระบบนิเวศไม่ให้รุนแรงมากไปกว่านี้ เพื่อปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เราต้องการพัฒนาการด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด นวัตกรรมทางด้านนโยบายที่กล้าหาญ และความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคมทุกชนชั้นและทุกเพศทุกวัย

.

ยิ่งไปกว่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่การลงทุนใหม่ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ช่วยปลดปล่อยสังคมของเราจากระบบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก และแม้ว่าการสร้างงานเป็นสิ่งจำเป็น

.

แต่ทางออกของปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ มิใช่เพียงแค่เร่งอัตราและกลไกการบริโภค ซึ่งเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่ความเสื่อมถอยของทรัพยากรโลก แต่ในขณะเดียวกันไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานในชีวิตของประชากรโลกส่วนใหญ่

.

ดังนั้น ในเมื่อรัฐบาลกำลังเร่งหาวิธีการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การแทรกแซงทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐจะใช้ จะต้องนำไปสู่ความยั่งยืนต่ออนาคตโลกและอนาคตของประเทศ

.

รัฐบาลไทยจะต้องสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก่อนการลงทุนอื่นๆ อันจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เส้นทางการเจริญเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ แทนที่จะพยายามสนับสนุนและคงไว้ซึ่งการลงทุนประเภทที่จะก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นเหตุของภาวะโลกร้อน และซ้ำเติมให้วิกฤตนิเวศและมนุษยธรรมที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเลวร้ายลง

.

สภาพแวดล้อมที่ดีกำลังมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในการลดความเสี่ยงจากหายนะภัยและปกป้องวิถีชีวิต  ระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นปราการทางธรรมชาติของชุมชนในการควบคุมภัยอันตราย ในขณะที่ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมเปิดโอกาสให้เราได้รับภัยง่ายขึ้น และลดความยืดหยุ่นในการตั้งรับและปรับตัวของชุมชน

.

ในโอกาสการเริ่มต้น “2553 ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มูน กล่าวไว้ว่า “ชีวิตของพวกเราดำรงอยู่ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ... เราได้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมซึ่งเราไม่เห็นความสำคัญมาก่อน

.

ผลต่อเศรษฐกิจและประชาชนนั้นลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชาชนในประเทศที่ยากจน... เราต้องการวิสัยทัศน์ใหม่ และความพยายามใหม่ๆ การปฏิบัติที่ดำเนินไปตามปกติมิใช่ทางเลือกที่เราจะเลือกได้”

.
ที่มา : กรีนพีซ