เนื้อหาวันที่ : 2007-02-20 18:00:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 948 views

รัฐฯ "พอเพียง" ดันทุรังเร่งเดินหน้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ต่ออีก

รัฐบาลขมิ้นอ่อน ยืนยันไทยยังจำเป็นต้องเร่งทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยกับญี่ปุ่น กระทรวงพาณิชย์ดันทุรังคุยต่อไม่สนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ชาวบ้านโวยให้หยุดการเจรจา เพราะไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชี้ควรจะรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาจะดีกว่า

รัฐบาลขมิ้นอ่อน ยืนยันไทยยังจำเป็นต้องเร่งทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยกับญี่ปุ่น กระทรวงพาณิชย์ดันทุรังคุยต่อไม่สนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ชาวบ้านโวยให้หยุดการเจรจา เพราะไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชี้ควรจะรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาจะดีกว่า

.

ที่รัฐสภาได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ประธานพิจารณาเรื่องด่วนกรณีที่รัฐบาลเสนอเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan–Thailand Economic Patnership Agreement) หรือ JTEPA เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ สนช.โดยเปิดให้อภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 12 ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เข้าร่วมรับฟังด้วย ทั้งนี้ คณะเจรจาฝ่ายไทยนำโดย นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาและคณะได้เข้าชี้แจงด้วย

.

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงโดยสรุปว่า รัฐบาลได้มีการพิเคราะห์มา 4 เดือนเพราะเป็นกรอบการเจรจายาวนานกว่า 5 ปี เมื่อมีการยุบสภาปี 2549 ได้เกิดชะงัก และเมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ควรดำเนินการต่อ เพราะไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ สนช. และที่สำคัญประชาชนมีส่วนร่วมน้อย การที่รัฐบาลต้องมาทำเรื่องนี้โดยไม่โยนเผือกร้อนให้รัฐบาลชุดหน้าเพราะมีความจำเป็น 3 ประการคือ 1. ความจำเป็นในการแข่งขันในเวทีโลก เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ทำข้อตกลงนี้เฉพาะไทยเพียงประเทศเดียว แต่ได้ทำกับ 6 ประเทศอาเซียนเดิมทุกประเทศแล้ว และล่าสุดคาดว่าจะมีการเจรจาทำสัญญากับประเทศเวียดนามเช่นเดียวกัน 2. ความจำเป็นในด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย และเป็นตลาดนำเข้าและคู่ค้าดันดับ 1 ของไทย การส่งออกเมื่อปี 49 มีมูลค่า 16.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้าทั้งสิ้น 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราต้องพึ่งพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากกว่า โดยเฉพาะธุรกิจด้านอาหาร ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าร้อยละ 40 ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอาหาร

.

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ถือได้ว่าญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 19 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ดีเอฟไอ) และลงทุนมาหลาย 10 ปี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเป็นพันธมิตรร่วมด้านเศรษฐกิจ ส่วนด้านการท่องเที่ยว แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งสิ้น 12 ล้านคนซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นถึงร้อยละ 20 และ 3. ความจำเป็นของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการค้าการแข่งขัน เราจึงอยากใช้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในการพัฒนาแบบร่วมหัวจมท้ายกัน

.

การทำข้อตกลงการค้าดังกล่าว รัฐบาลคำนึงถึงหลักแนวคิดการเจรจาว่าจะผ่อนปรนอุปสรรคทางการค้ากันอย่างไร การเจรจาไม่ใช่เป็นการฆ่ากัน แต่การเจรจาที่เกิดขึ้นอย่างสหรัฐนั้นเป็นภาพพจน์ที่ไม่ถูกต้อง เราไม่เคยยึดถือตรงนั้น แต่ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศ ที่สำคัญต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายของประเทศ อะไรไม่ถูกต้องเกินเลยไป สิทธิพึงมีพึ่งได้ตามกฎขององค์กรการค้าโลก เราไม่เคยทิ้งและจะรักษาไว้ หรือเมื่อมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ก็จะไม่มีใครได้ฝ่ายเดียว และต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เป็นไปได้ ค่อยเป็นค่อยไปให้เวลาปรับตัว 5-7 ปี นายเกริกไกร กล่าว

.

รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วย กระบวนการเจรจาทำข้อตกลงนี้ ถือว่ายาวนานที่สุดมากกว่าการเจรจารอบอุรุกวัย หากพิจารณาก็ต้องยอมรับว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่มีการเจรจาการค้าไหนที่มีแต่ผลดี แต่เราต้องดูภาพรวมว่าได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนข้อกังวลเรื่องรายได้จากภาษีศุลกากรอาจจะลดลงนั้น ขอเรียนว่า ลดลงแน่นอน แต่วันนี้ภาษีศุลกากรไม่ได้เป็นรายได้หลักของประเทศ เพราะมีรายได้เพียงร้อยละ 11 ซึ่งรัฐบาลจะได้ภาษีที่มากขึ้นจากด้านการส่งออก ภาษีบุคคลและนิติบุคคล

.

ส่วนเรื่องการขาดดุลการค้าแม้จะมากขึ้น แต่ถ้าไม่ขาดดุลกับญี่ปุ่นเราก็ขาดดุลกับประเทศอื่น ทั้งนี้เราจะสามารถเพิ่มผลผลิตส่งไปขายกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและอเมริกาเพื่อนำมาชดเชยได้ ส่วนที่มีคำถามว่าการทำข้อตกลงครั้งนี้จะมีความโปร่งใสพิจารณาด้วยกระบวนการที่รอบคอบหรือไม่ ทำไมสภาไม่มีบทบาทนั้น วันนี้รัฐบาลได้ทำเรื่องนี้โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ เรื่องนี้มีความเร่งด่วนจำเป็นสมควร เพราะสถานะของประเทศยังอยู่ในกระบวนการปฏิวัติ ซึ่งการทำข้อตกลงการค้าเสรีจะทำให้ประเทศเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ว่าไทยเป็นมิตรประเทศคู่ค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

.

นายประมนต์ สุธีวงศ์ สนช. ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นระบบเปิด ซึ่งต้องพึ่งการค้าระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะขัดต่อนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ในสภาพปัจจุบันหากเราไม่ทำอะไรซักอย่างเราอาจจะเสียเปรียบคู่แข่ง ซึ่งไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน ถือว่ามีความใกล้ชิดกันเช่น เป็นคู่ค้ากันมานาน สถาบันกษัตริย์ก็ใกล้ชิดกัน ดังนั้น เชื่อว่าญี่ปุ่นก็ต้องคำนึงถึงความสำคัญตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การทำความตกลงประเทศไทยจะได้เปรียบในเรื่องสินค้าเกษตร การประมง อุตสาหกรรมขนาดกลางถึงขนาดย่อม การศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งตนมั่นใจว่าการทำความตกลงในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับไทยและรัฐบาล

.

นายณรงค์ โชควัฒนา สนช. และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกลุ่มแพน กล่าวว่า การที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการเจรจาการเปิดการค้าเสรีทีละประเทศ คือยุทธศาสตร์การตีกินทีละเมือง ซึ่งหลักการค้านี้ประเทศที่ใหญ่กว่าจะได้เปรียบเสมอโดยใช้เป็นข้ออ้างว่าถ้าประเทศอื่นทำแต่เราไม่ทำ เราจะเสียเปรียบ ทั้งนี้ ปัญหาในเรื่องการทำข้อตกลง JTEPA คือ กระบวนการและวิธีการวิธีคิด ซึ่งถึงแม้ว่าการเจรจาจะดำเนินการมาหลายปีก็จริง แต่มีการจัดทำเป็นชั้นความลับ ไม่ได้บอกหัวข้อการเจรจากับประชาชน จะมาบอกก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้น ข้อตกลงควรจะต้องมีการเปิดกว้างมาก ๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิด เรื่องการปิดเป็นความลับสำหรับประชาชนถือว่าเป็นจุดอ่อนในการเจรจาครั้งนี้ และเชื่อว่าประเทศที่เป็นคู่แข่งคงรู้ข้อมูลไปหมดแล้วว่าเราเจรจาอะไรกัน ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องจัดชั้นความลับกับคนไทยทั้ง ๆ ที่เราเป็นประเทศประชาธิปไตย

.

ญี่ปุ่นเป็นประเทศพ่อค้า ดังนั้นอะไรก็ตามที่กระทบกระเทือนต่อประชาชนที่อ่อนแอในประเทศเขาก็จะหยิบออกทันที อาทิ สินค้าเกษตรที่รับรองว่าไม่มีทางที่ญี่ปุ่นจะยอมให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าไปในญี่ปุ่นในอัตราศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือถ้ายอมให้ผ่านเข้าไปก็จะต้องมีมาตรการกีดกันหลายชั้นเชื่อว่ารูปแบบที่ออกมาคือ ญี่ปุ่นคงหาทางออกโดยการให้เกษตรกรของเขานำเข้าสินค้าเกษตรของเราไปต่อยอดสินค้าของเขา เพราะตุ้นทุนจะต่ำกว่า

.

ทั้งนี้ รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยนำเรื่องการทำพันธสัญญากับต่างประเทศเข้าสภา จึงเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลนำเรื่องนี้เข้าสภา แม้ว่าจะเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นบรรทัดฐานในการเจรจาการค้าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนคิดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่มาตรการเร่งด่วนสำหรับสถานะรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งเหมือนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลควรจะรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาจะดีกว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการระแวงนอกสภาว่ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ ฉะนั้น ควรรอเวลาอีกสักนิดเพื่อความรอบคอบจะดีกว่า