1. พาณิชย์ชูไกด์ไลน์ SMEs รับมือบาทแข็ง |
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการส่งออกไปจัดทำแนวทางในการปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในภาวะค่าเงินบาทแข็งค่า โดยจัดทำเป็นข้อแนะนำให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กใช้เป็นคู่มือในการทำธุรกิจในยุคที่ค่าเงินบาทแข็งค่า |
. |
ทั้งนี้ คู่มือที่จะออกมา เช่น วิธีการซื้อเงินต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ขั้นตอนและวิธีการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้จัดทำแผนการบุกเจาะตลาดใหม่ โดยเน้นตลาดที่มีศักยภาพและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและระดับปานกลาง |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 32.6 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีแนวโน้มชะลอลงเนื่องจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และจากฐานการคำนวณที่สูงในปีก่อน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการชะลอเงินลงทุนไหลเข้า ได้แก่ |
. |
1) การยกเลิกยกเว้นการจัดเก็บภาษี 15% จากกำไรและดอกเบี้ยในพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติ 2) ส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศ และ 3)มาตรการช่วยเหลือ SMEs ผู้ส่งออกที่จะได้รับผลกระทบ โดยจะให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ธนาคารอิสลาม SME Bank และธนาคารกรุงไทย สนับสนุนให้เอกชนทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน |
. |
2. 9 เดือนแรกปี 53 ลงทุน BOI 2.86 แสนล้านบาท |
- รมว. อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย. 53) มีมูลค่า 2.86 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 1,107 โครงการ ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ที่ 5 แสนล้านบาท |
. |
อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีการลงทุนจะเข้ามาเพิ่มตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีนักลงทุนสนใจมาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นสิ้นไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยาง |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงปี 52 ถึงต้นปี 2553 ได้รับปัจจัยกดดันจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และปัญหามาบตาพุดทำให้การลงทุนไม่ปรับเพิ่มมากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 16.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.3 – 16.8 ต่อปี) |
. |
โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น 2) ปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 3) ปัญหาการลงทุนมาบตาพุดคลี่คลายมากขึ้น และ 4) ฐานการคำนวณที่ต่ำกว่าปกติในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก |
. |
3. ประเทศในเอเชียเตรียมใช้มาตรการสกัดทุนนอกเพื่อช่วยส่งออกจากค่าเงินแข็ง |
- สำนักข่าวเอเอฟพีออกรายงานกึ่งวิเคราะห์ชี้ว่า ค่าเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชียแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่มีความมั่นใจในเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น และเกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ ทำให้หลายประเทศเร่งตั้งกำแพงป้องกันภาคส่งออก |
. |
ทั้งนี้ การแข็งค่าของค่าเงินในเอเชียเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐได้พิมพ์ธนบัตรใหม่อัดฉีดเข้าสู่ระบบและยังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลงด้วย |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การแข็งค่าของสกุลเงินในเอเชียเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯและยุโรปที่ส่งผลให้นักลงทุนแสวงหาแหล่งลงทุนอื่น ประกอบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังขยายตัวได้ดีและมีเสถียรภาพ ในส่วนของประเทศไทยนั้น ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากต้นปี หรือร้อยละ 7.72 จากวันที่ 1 ก.ค. 53 |
. |
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ (NEER) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าที่ร้อยละ 5.13 สำหรับมาตรการลดผลกระทบค่าเงินบาทที่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 53 จากการติดตามในระยะสั้นพบว่า มีผลให้การไหลเข้าของเงินทุนสู่ตลาดทุนเป็นไปในอัตราที่ชะลอลง |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |