การจ้างงานเดือนส.ค. 53 อยู่ที่ 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 3.3 แสนคน สาเหตุสำคัญมาจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสาขาการขายส่งและขายปลีกที่เพิ่มขึ้น 2.1 แสนคน และการจ้างงานภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น 3.7 แสนคน |
. |
ซึ่งเป็นผลจากเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากนอกภาคการเกษตร ซึ่งสะท้อนได้จากจำนวนการจ้างงานในภาคการผลิตที่ลดลง 3.0 แสนคน และภาคบริการในบางสาขาโดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ลดลง 1.2 แสนคน |
. |
ทำให้แรงงานเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น สำหรับอัตราการว่างงานเดือนส.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม เท่ากับเดือนที่ผ่านมา โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 3.5 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานในภาคบริการ 8.6 หมื่นคน ภาคการผลิต 9.9 หมื่นคน ภาคเกษตร 1.0 หมื่นคน และผู้ที่กำลังหางานจำนวน 1.6 แสนคน |
. |
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ย. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 84.6 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณจำนวน 12.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ 17.8 ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร |
. |
ส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าได้สูงกว่าเป้าหมาย โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 36.4 8.2 8.8 และ 53.9 ต่อปี ตามลำดับ |
. |
ทั้งนี้ ตลอดปีงบประมาณ 53 (ต.ค. 52 – ก.ย. 53) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 1,678.9 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 19.0 ต่อปี สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณจำนวน 328.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ 24.4 ซึ่งจัดเก็บได้สูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 19.0 สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ |
. |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ เดือน ก.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี หรือหดตัวที่ร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ตามการลดลงของภาษีที่จัดเก็บจากการนำเข้าเป็นสำคัญ |
. |
ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในไตรมาสที่ 3 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 ต่อปี (หรือหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว) เนื่องจากปัจจัยฐานที่เริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ |
. |
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 85.1 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 45.2 ต่อปี และหากหักผลทางฤดูกาลแล้ว คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า |
. |
บ่งชี้ถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับตลาดบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และตลาดทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่จากธนาคารพาณิชย์ในเดือนส.ค. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 12.7 ต่อปี ตามลำดับ |
. |
ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 53 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 58.9 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 81.5 ต่อปี ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีความต้องการที่แท้จริงจากผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |