เนื้อหาวันที่ : 2010-10-18 10:58:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1271 views

TMB ชี้บาทแข็งฉุดยอดส่งออกหด 3.3%

TMB Analytics ระบุการที่เงินบาทแข็งค่า 10% ทำให้ลดลงถึง 3.3% ต่อไตรมาส ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.9% เชื่อรัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง SMEs จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้

.

TMB Analytics ระบุการที่เงินบาทแข็งค่า 10% ทำให้ลดลงถึง 3.3% ต่อไตรมาส ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.9% เชื่อรัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง SMEs จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้

.

“TMB Analytics” หรือ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB” วิเคราะห์ว่าจากการที่เงินบาทแข็งค่าร้อยละ 10 ส่งผลให้การส่งออกลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับกรณีฐาน (กรณีที่ค่าเงินไม่เปลี่ยนแปลง) ในขณะที่ด้านการนำเข้าจะได้รับผลดีจากอัตราแลกเปลี่ยนเพียงช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาวการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะฉุดการนำเข้าสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตสำหรับส่งออกให้ลดลงตามเฉลี่ยแล้วการนำเข้าจะลดลงร้อยละ 2.5 ต่อไตรมาส            

.

ในฝั่งด้านราคา การที่บาทแข็งค่าจะส่งผลดีต่อระดับราคาโดยรวม การที่นำเข้าสินค้าได้ในมูลค่าเงินบาทที่ถูกลง จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.9 ต่อไตรมาส และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.2 ต่อไตรมาส ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยผ่อนคลายความกังวลด้านเงินเฟ้อไปได้บางส่วน 

.

“TMB Analytics” รายงานถึงมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่สามารถยับยั้งการแข็งค่าของเงินบาท หากย้อนไปในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าในปี 2549 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่มีสาเหตุหลักๆ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ทั้งปัจจัยพื้นฐานในประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น

.

หลังจากมีการปฏิรูปการปกครอง ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียเติบโตดี ขณะที่การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น สะท้อนจากยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์พุ่งสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท (ยอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ปี 2549 อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)           

.

ทำให้ธปท. ออกมาตรการเพื่อสกัดการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเป็นระยะ กระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ธปท.ให้ยาแรงโดยออกมาตรการสำรองเงินทุนร้อยละ 30 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างหนัก จนต้องมีการผ่อนคลายเกณฑ์เพื่อบรรเทาผลกระทบทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่อมา และยกเลิกมาตรการไปในที่สุดในเดือนมีนาคม 2551 สังเกตได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่มาตรการมีผลบังคับใช้เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ มาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อเดือนกันยายน 2553 ไม่มีผลสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาทโดยตรง แต่เป็นมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกเพื่อสร้างสมดุลระหว่าง Capital Inflows-Outflows ให้มากขึ้น อาทิ เพิ่มวงเงินให้นิติบุคคลไปลงทุน หรือปล่อยกู้แก่กิจการในต่างประเทศ เพิ่มวงเงินการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

.

ซึ่งหลังจากที่มาตรการประกาศออกมา เงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้นอีกจนหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ครม.จึงมีมติอนุมัติมาตรการเพิ่มเติมในวันที่ 12 ตุลาคม ได้แก่ 1)มาตรการชะลอ Capital Inflows โดยการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ในอัตราร้อยละ 15 จากกำไรและดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติ 2)ส่งเสริม Capital Outflows โดยให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศและเร่งจองเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

.

3) มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ส่งออกโดยเปิดช่องทางการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Forward) สำหรับ ผู้ส่งออกรายย่อยที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ กับธนาคาร 4 แห่งประกอบด้วย เอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ กรุงไทย และอิสลามแบงก์ และให้บสย.ทำการค้ำประกันการทำ Forward โดยคิดค่าธรรมเนียมเพียงร้อยละ 0.75 รวมทั้งให้สินเชื่อเพิ่มเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ผ่าน SFIs เราเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ส่งออกจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง

.

ขณะที่ การเก็บ Withholding Tax ที่พุ่งเป้าไปที่การสกัดกั้นความร้อนแรงของตลาดตราสารหนี้ จะมีส่วนช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนได้ในระดับจำกัดเท่านั้น ตราบที่ค่าเงินบาท ซึ่งเราคาดว่ายังคงมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนืองไปอีกอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 มีส่วนทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนโดยรวมจากตลาด ตราสารหนี้และอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่น่าสนใจอยู่ 

.

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วนั้น ยังส่งผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก โดยด้านรายได้ ด้วยเงินบาทที่แข็งค่าทำให้รายได้ที่เป็นเงินบาทลดลงค่อนข้างชัดเจน แต่ในด้านต้นทุนที่จะปรับลดลงจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้า

.

จากการวิเคราะห์อัตราส่วนกำไรเบื้องต้น (Profit Margin) ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในช่วงปี 2545-2551 โดยดูผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาทผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมของตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input–Output Tables) โดยใช้สมมติฐานเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 10 พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ             

.

โดยเฉพาะที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบทั้งหมด แต่ได้รับรายได้จากการส่งออกเป็นเงินบาทที่น้อยลง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าในครัวเรือน Profit Margin จะลดลงไปกว่าร้อยละ 52 จากค่าเฉลี่ยของ Profit Margin ของอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งหากการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เช่นที่ร้อยละ 20 อาจจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ประสบกับภาวะขาดทุนได้ 

.

อย่างไรก็ตาม มีบางอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท โดยมี Profit Margin เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลงเพราะส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบนำเข้า ในขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ พลังงาน สื่อสาร สาธารณูปโภคพื้นฐาน เครื่องจักร เป็นต้น