"นวัตกรรม" เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เฉพาะในแวดวงธุรกิจการค้า หากแต่ยังหมายรวมไปถึงวิถีชีวิตการบริโภคของผู้คนทั่วทั้งโลก (ตอนที่ 2)
The 21st Century Economy |
. |
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ |
. |
. |
บทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่เริ่มเติบโตตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา ทั้งนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวได้แตกเซกเมนต์กระจายไปสู่ภาคการผลิตอื่น ๆ โดยมีการสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองให้คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น |
. |
อย่างที่กล่าวไปเมื่อตอนที่แล้วนะครับว่า “นวัตกรรม” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Innovation นั้นเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change) ไม่เฉพาะในแวดวงธุรกิจการค้า หากแต่ยังหมายรวมไปถึงวิถีชีวิตการบริโภคของผู้คนทั่วทั้งโลกอีกด้วยครับ |
. |
และไอ้เจ้า Change นี่แหละครับที่ได้สร้าง “อารยธรรมใหม่” ให้กับมนุษยชาติ สร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งความรู้และวัฒนธรรม ทำให้มนุษย์สามารถดำรงและพัฒนาเผ่าพันธุ์ตัวเองไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด |
. |
อย่างไรก็ดีใช่ว่าไอ้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมันจะมีด้านบวกแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ การเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นได้ “พราก” อะไรบางอย่างในตัวมนุษย์เราไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “วิถีชีวิต” แบบดั้งเดิมที่เคยเน้นความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย พอเพียง ไม่เร่งร้อน กลายมาสู่วิถีชีวิตสังคมเมืองสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน |
. |
อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาอย่างที่หลายคนชอบกล่าวว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” หรือ “ไม่ค่อยจะมีเวลา” ประโยคเหล่านี้สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกใบนี้ครับ |
. |
กลับมาที่เรื่องของเรากันต่อดีกว่าครับ, ครั้งที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ถึงชื่อของ วิลเลี่ยม เฮนรี่ “บิล” เกตส์ เดอะเทิร์ด (William Henry "Bill" Gates III) หรือที่คนทั้งโลกรู้จักกันในชื่อ “บิล เกตส์” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่กลายมาเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก |
. |
“บิล เกตส์” สร้างฐานะตัวเองขึ้นมาได้ ก็ด้วยการคิดค้นและพัฒนา Innovation ตัวใหม่ภายใต้ธุรกิจที่ชื่อซอฟต์แวร์ (Software Industry) ครับ |
. |
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วเจ้าชื่อธุรกิจซอฟต์แวร์ดูจะไม่เป็นที่คุ้นหูเลยในโลกของธุรกิจ แต่ทุกวันนี้ธุรกิจซอฟต์แวร์หรืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโลกในยุคสมัยของ “โลกาภิวัฒน์” |
. |
ท่านผู้อ่านอาจจะแปลกใจว่าทำไมคอลัมน์นี้ผู้เขียนถึงเน้นถึงคำว่า “โลกาภิวัฒน์” อยู่บ่อยครั้ง เหตุที่ต้องย้ำถึงคำ ๆ นี้เสมอ ก็เนื่องมาจากเราอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านแทบจะทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในยุคของโลกาภิวัฒน์นั้น “อำนาจ” มิได้อยู่ที่ “อาวุธ” ที่ลุกขึ้นมาประหัตประหารกันต่อไปอีกแล้ว |
. |
หากแต่อำนาจอยู่ที่ “ความรู้” และ “ข้อมูลข่าวสาร” ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้โลกาภิวัฒน์จึงผูกโยงระหว่างข้อมูลข่าวสารและเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่นี้เองครับ |
. |
บิล เกตส์ กับ อาณาจักรไมโครซอฟต์ |
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา ยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์อย่าง IBM ได้เริ่มรุกตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ PC (Personal Computer) โดยส่งคอมพิวเตอร์บ้านรุ่นแรกหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า IBM PC ออกมาชิมลางลองตลาดดูก่อน ซึ่ง IBM PC ทำงานด้วยระบบ PC DOS 1.0 มี Memory 1.6 KiB~256KiB |
. |
ขณะที่ IBM ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองบริษัทคอมพิวเตอร์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองแอลบูเคอร์คี (Albuquerque) มลรัฐนิวเม็กซิโก (New Mexico) ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทคอมพิวเตอร์เล็ก ๆ แห่งนี้จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลอดจนสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ก่อตั้งชนิดที่เรียกว่าเป็นโคตรบิลเลี่ยนแนร์แห่งศตวรรษเลยทีเดียวครับ |
. |
ใช่แล้วครับ… บริษัทเล็ก ๆ ที่ว่านี้ คือ บริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft Corporation) ที่ก่อตั้งโดย บิล เกตส์ (Bill Gates) และ พอล อัลเลน (Paul Allen) สองเพื่อนรักผู้บุกเบิกให้ไมโครซอฟต์กลายเป็นเจ้าตลาดแห่งโลกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน |
. |
ทั้งเกตส์และอัลเลนเริ่มต้นจากการพัฒนาภาษา BASIC ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในวงการคอมพิวเตอร์ก่อนครับ โดยทั้งคู่ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า Microsoft Basic หรือ Altair BASIC ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้บริษัทของเกตส์และอัลเลนสามารถแทรกตัวเข้ามาสู่วงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์โดยมุ่งไปที่เซกเมนต์การผลิตซอฟต์แวร์มารองรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล |
. |
Microsoft Basic ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของ Microsoft |
. |
บิล เกตส์ (แถวล่างซ้ายมือสุด) และ พอล อัลเลน (แถวล่างขวามือสุด) |
. |
หลังจากที่ทั้งเกตส์และอัลเลนส่งผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาโดยต่อยอดจากภาษา BASIC ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์แล้ว ทั้งคู่เริ่มเข้าสู่การพัฒนาระบบปฏิบัติการหรือ Operation System โดยสร้างระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า MS-DOS ที่ทำให้ Microsoft เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น |
. |
MS-DOS ระบบปฏิบัติการยุคบุกเบิกของ Microsoft |
. |
ในช่วงสิบปีแรกของ Microsoft คือ นับตั้งแต่ปี 1975-1985 นั้น สตาฟฟ์ของบริษัทซึ่งรวมทั้งเกตส์และอัลเลนต่างทำงานกันอย่างหนักในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในวงการซอฟต์แวร์จนทำให้ธุรกิจชนิดนี้มีตัวตนขึ้นมาจริงในโลกธุรกิจการค้า |
. |
แม้ว่าในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ตลอดจนข้อกล่าวหาในเรื่องการผูกขาดทางการค้าก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์ที่ Microsoft พัฒนาขึ้นมานั้นล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยสติปัญญาและความรู้ขั้นสูง ด้วยเหตุนี้มูลค่าของสินค้าและบริการก็ควรจะสูงตามความยากในการผลิตด้วย |
. |
อย่างไรก็ดีจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Microsoft ผงาดขึ้นมายิ่งใหญ่ได้ในวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Microsoft Windows ครับ |
. |
Windows เป็นระบบปฏิบัติการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่ายเปรียบเสมือนเปิดหน้าต่างไปเจอสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการจะหาหรือทำงาน ด้วยเหตุนี้เอง Windows ของเกตส์และอัลเลนจึงสามารถยึดหัวหาดและครองตลาด Operation System ของคอมพิวเตอร์ ชนิดที่เรียกได้ว่าถ้าใครนึกถึง Microsoft ภาพของ Windows ก็จะลอยมาให้เห็นอยู่ตรงหน้าแล้ว |
. |
หน้าจอ Windows 1.0 |
. |
หน้าจอ Windows 3.0 |
. |
ภาพที่หลายคนชินตา |
. |
อาณาจักร Microsoft ของเกตส์และอัลเลนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 90 ทั้งนี้เนื่องมาจากคอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จะทำให้แนวคิดเรื่อง “โลกาภิวัฒน์” ประสบความสำเร็จได้จริง |
. |
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ครบครันแล้ว คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถทำงานตอบสนองประมวลผลวิเคราะห์ให้กับผู้บริโภคเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียวเท่านั้นแต่ถ้าคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องสามารถมาเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายติดต่อสื่อสารกันได้แล้ว พลังอำนาจของการสื่อสารก็จะ “ขยายตัว” ทบทวีชนิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกเช่นกัน |
. |
ด้วยเหตุนี้เมื่อระบบ Internet ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องกิจการความมั่นคงทางการทหารอีกต่อไปแล้ว Internet จึงเริ่มเข้าสู่วงการธุรกิจอุตสาหกรรมตลอดจนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น Internet ได้ทำให้ผู้คนนับพันล้านคนทั่วโลกต่างรู้สึกคล้าย ๆ กันว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องการติดต่อสื่อสารอีกต่อไปแล้ว |
. |
ช่วงเวลาที่ Internet เริ่มบูมในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 Microsoft ของเกตส์และอัลเลนก็เริ่มพัฒนาโปรแกรม Internet Explorer ที่เป็นโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ขึ้นมาเพื่อมาตีตลาดโปรแกรม Netscape Navigator ซึ่งเคยครองตลาดเว็บบราวเซอร์ Internet ในยุคเริ่มต้น และ Internet Explorer นี้เองที่ทำให้ Microsoft ยังคงเกี่ยวกระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างมั่นคงและแตกไส้ขยายตัวไปสู่เซกเมนต์ออนไลน์ไม่ว่าจะสร้าง Hotmail หรือ MSN ขึ้นมา |
. |
Microsoft Internet Explorer ในยุคเริ่มต้น |
. |
Hotmail และ MSN ในยุคเริ่มต้น |
. |
บิล เกตส์ และ พอล อัลเลน ต่างพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ Microsoft ให้มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ นวัตกรรมหลายต่อหลายชิ้นมาจากห้องทดลองหรือศูนย์วิจัยของ Microsoft เอง ทุกวันนี้ตัวเลขกำไรในปีล่าสุดของ Microsoft อยู่ประมาณ 18.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ Microsoft มีสินทรัพย์รวมทั้งหมดกว่า 90 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีพนักงานอยู่ทั่วโลกร่วม 90,000 คน |
. |
Microsoft Office |
. |
ปัจจัยที่ทำให้ Microsoft ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ การรู้จักพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งนะครับ นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างให้ Microsoft กลายเป็น Global Brand ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา |
. |
การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่จำเพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่เป็นความต้องการของคนทั่วทั้งโลกนั้นสามารถสร้าง “อำนาจผูกขาด”ขึ้นมาได้ในโลกธุรกิจ |
. |
ความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนมาจาก “แรงบันดาลใจ” ที่ทั้งเกตส์และอัลเลนผู้คลั่งไคล้คอมพิวเตอร์เป็นชีวิตจิตใจได้สร้างสรรค์งานที่พวกเขารัก ขณะเดียวกันจังหวะและโอกาสที่ “โลกาภิวัฒน์” ได้มอบให้คนทั้งสองนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ Microsoft เจริญเติบโตชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน |
. |
สตีฟ บาลเมอร์ (Steve Ballmer) |
. |
“นวัตกรรม” นับเป็นบ่อเกิดแห่งความมั่งคั่งให้กับผู้คิดค้น นอกจากนี้นวัตกรรมยังทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้เองในวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ และยิ่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดมากขึ้นเท่าไร ผลดีก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้นครับ |
. |
“พลานุภาพทางเศรษฐกิจของ Internet Economy” ยังไม่จบเท่านี้นะครับฉบับหน้าผู้เขียนจะขอรับใช้ท่านผู้อ่านด้วยการเล่าถึงสภาพการแข่งขันและการพัฒนาในวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งว่ากันว่ามี “ไทคูน” ลูกใหม่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายคน และหนึ่งในนั้นเห็นทีจะต้องพูดถึง แลร์รี่ เพจ (Larry Page) และ เซอร์เกย์ บรีน (Sergey Brin) สองคู่หูผู้ก่อตั้ง Google อีกหนึ่งการจับคู่ความสำเร็จที่ไม่แพ้เกตส์และอัลเลน |
. |
เอกสารและภาพประกอบการเขียน |
1. www.wikipedia.org |