เนื้อหาวันที่ : 2007-02-20 14:25:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 10043 views

ทุนนิยมจีนบนกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

หัวใจของการปฏิรูป คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ เติ้งได้ใช้ระบบตลาดสังคมนิยม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ระบบตลาดแบบสังคมนิยมของจีน

ภาวะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งได้กล่าวถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดประเด็นศึกษาที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันผู้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนมือจากประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นประเทศจีนแล้วหรือยัง เพราะการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของจีนในแต่ละครั้งล้วนแต่ส่งผลถึงการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ดังนั้น ทางคณะผู้เขียนจึงขอนำประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของจีนในการก้าวเข้าเป็นผู้กำหนดทิศทางการดำเนินไปของเศรษฐกิจโลกมาบอกกล่าวให้ฟัง

.

ทุนนิยมแบบจีน

จีน 1 ประเทศ 2 ระบบ โดยพัฒนาการเศรษฐกิจจาก เหมาเจ๋อตุง ถึง หูจิ่นเทา หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นครองอำนาจในปี 1949 เหมาเจ๋อตุง พยายามสร้างประเทศจีนให้เข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์t[1] ทั้งในแง่ชนชั้นและในแง่เศรษฐกิจ เหมาเองรังเกียจ  คำว่า Development ซึ่งเป็นนิยามของทุนนิยม เหมาจึงใช้คำว่า Economic Construction หรือการเสริมสร้างทางเศรษฐกิจแทน พัฒนาการเศรษฐกิจหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม เหมาได้นำแนวคิดที่สั่งสมมายาวนานจากการต่อสู้ร่วมกับประชาชน แนวคิดดังกล่าวถูกแปรมาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐเป็นผู้วางแผนขึ้นมา ลัทธิเหมาอิสม์  กำเนิดขึ้นมาโดยเหมาเจ๋อตุงได้เสนอแนวคิด 3 ประการที่สำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจจีน แนวคิดทั้ง 3 ประการ คือ ความขัดแย้ง[2] การจัดองค์กร  และการพึ่งพาตนเอง จีนในยุคของเหมาได้วางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางในรูปของแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ( 1953 - 1957 )หลังจากนั้น จีนได้เข้าสู่ระยะก้าวกระโดดไกลครั้งใหญ่หรือ   The Great Leap Forward ในช่วง ค.ศ 1958 - 1960 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งพัฒนาทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้แรงงานอันเหลือเฟือในภาคเกษตร และใช้เทคนิควิธีการผลิตแบบผสมในภาคอุตสาหกรรม ในระยะนี้รัฐได้ทุมเททรัพยากรไปในภาคอุตสาหกรรมหนัก  โดยเฉพาะเหล็กกล้า แต่การพัฒนาดังกล่าว กลับล้มเหลวจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ซ้ำยังประสบปัญหาภัยแล้งอีกด้วย  ชาวจีนตกอยู่ในภาวะอดอยากขาดอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ผลผลิตที่ลดต่ำทำให้ การส่งออกลดลง การว่างงานมีอัตราสูง และเศรษฐกิจตกต่ำ

.

จีนยังคงใช้การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางเรื่อยมาจนกระทั่งประธานเหมาถึงอสัญกรรมในปี 1976 พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP)ได้ก้าวเข้าสู่ผู้นำในรุ่นที่ 2 คือ เติ้ง เสี่ยว ผิง เติ้งเป็นผู้นำที่มีความคิดในลักษณะประนีประนอมโดยเขาเชื่อว่าเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การให้ประชาชนชาวจีนมีความเป็นอยู่ที่ดีไม่อดอยาก  ประโยคที่สะท้อนแนวคิดที่ยืดหยุ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของเติ้ง คือ แมวสีอะไรนั้นไม่สำคัญสำคัญที่ว่าสามารถจับหนูได้ เติ้งเริ่มดำเนินนโยบาย 4 ทันสมัย ได้แก่ ภาคเกษตร  ภาคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และการป้องกันประเทศ โดยนโยบายดังกล่าวทำให้จีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอกมากขึ้น  ซึ่งเติ้งได้กำหนดยุทธศาสตร์ 3 ก้าว  ได้แก่  การพัฒนาพลังการผลิต   การเสริมสร้างพลังรวมของชาติ และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน  โดยแบ่งระยะเวลาของการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ด้วยกัน คือ

.

ระยะที่ 1  (1981 - 1990) เป้าหมาย คือ จีนจะต้องมี GDP เพิ่มเป็น 2 เท่า และแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่ม

ระยะที่ 2  (1991- 1999) เป้าหมาย คือ จีนจะต้องเพิ่ม GDP เป็นอีก 2 เท่า และยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน

ระยะที่ 3  (2000 กลางศตวรรษที่ 21) เป้าหมาย คือ GDP ของจีนจะเติบโตเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วและประชาชนมีฐานะร่ำรวยขึ้น

.

การปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมานั้นยังคงยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน 4 ประการ คือ  หนทางสังคมนิยม ลัทธิ Marx ประชาธิปไตยของประชาชน และการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรวมทั้งดำเนินการปฏิรูป และเปิดกว้างในทุก ๆ ด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เติ้งเสี่ยวผิง  ได้ให้แนวทางในการพัฒนาสังคมจีนไว้ว่า สังคมจีนจะต้องเป็น สังคมเสี่ยวคัง  หรือ A well  off  Society  สังคมเสี่ยวคังในความหมายของเติ้ง คือ ความทันสมัยแบบจีนอันเป็นความมั่นคั่งอยู่ดีกินดี  ความทันสมัยดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดความจากชาติอื่นแต่เป็นความทันสมัยภายใต้ปรัชญาและแนวคิดของจีนเอง  การปฏิรูปในทัศนะของเติ้ง คือ การปรับเปลี่ยนและการพัฒนาตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในระบบสังคมนิยม และการปฏิรูปก็คือการปฏิวัติทางสังคมที่ลึกซึ้ง เติ้งเชื่อว่าการปฏิรูปจะเป็นพลังสำคัญและเป็นแนวทางพื้นฐานในการพัฒนาสังคมของจีน  จีนเริ่มเปิดประเทศมากขึ้นโดยให้ทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น ช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่เป็นทุนจีนโพ้นทะเลที่มาจาก  ฮ่องกง  ไต้หวัน และสิงค์โปร์ โดยเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้ในฐานะเท่าเทียมกับรัฐวิสาหกิจ

.

ดังนั้น หัวใจของการปฏิรูป คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ  เติ้งได้ใช้ระบบตลาดสังคมนิยม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ  ระบบตลาดแบบสังคมนิยมของจีน เปิดโอกาสให้เอกชนดำเนินธุรกิจการค้าส่วนตัว ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างเสรีถือว่าเศรษฐกิจภาคเอกชนมีความสำคัญเทียบเท่าเศรษฐกิจภาครัฐ  เศรษฐกิจระบบตลาดสังคมนิยมมีลักษณะจำเพาะของจีนเป็นสำคัญ โดยอยู่ภายใต้รากฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ประกอบด้วย 4 ทฤษฎีหลัก คือ ทฤษฎีเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม   ทฤษฎีความสัมพันธ์ทางการผลิต  ทฤษฎีเศรษฐกิจภาครัฐ และทฤษฎีองค์ประกอบของรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศ  นอกจากนี้การปฏิรูปยังยึดรากฐานทฤษฎีสังคมนิยม 4 ทฤษฎี ได้แก่  ทฤษฎีความขัดแย้งพื้นฐานสังคมนิยม  ทฤษฎีสังคมนิยมขั้นปฐม  ทฤษฎีความขัดแย้งหลักในสังคมขั้นปฐม  และทฤษฎีการปฏิรูป

.

แนวทางพื้นฐานที่สำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน คือ  การกระจายอำนาจในการตัดสินใจ  การปล่อยให้กลไกราคาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรในการผลิต  และ การเปิดประเทศ โดยในปี 1989 จีนได้กำหนดให้มณฑลทางใต้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones หรือ SEZs)[1] อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงปี 1981 1991 อยู่เฉลี่ยปีละ 8.9 % และเพิ่มมากกว่า 10% หลังปี 1991

.

การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง ตั้งแต่ปี 1979 1989  เศรษฐกิจจีนขยายตัวในเชิงปริมาณอย่างมากจนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงติดตามมา และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ปราบจลาจลของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปี 1989  ในปีเดียวกันนั้น  เจียง เจ๋อ หมิน ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคต่อจากจ้าวจื่อหยาง  ในยุคของเจียง  เจียงยังคงดำเนินการปฏิรูปโดยมุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปกลไกตลาดเป็นสำคัญ  โดยจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาที่มีเสถียรภาพอย่างถูกต้อง   เจียงเน้นการปฏิรูป  การพัฒนา และความมีเสถียรภาพเป็นหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ  นอกจากนั้นช่วงเวลาดังกล่าวจีนได้ขยายขอบเขตการเปิดกว้างโดยเปิดประตูสู่การค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเร่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ  จีนยึดหลัก 2 ทรัพยากร 2ตลาด คือ จากต่างประเทศและในประเทศ  หลักการดังกล่าวนำไปสู่การแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหาการว่างงาน  ในช่วงเวลาที่เจียงเจ๋อหมินเป็นผู้นำ (1989- 2002) จีนสามารถคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจ (Overheat) ที่เกิดขึ้นในยุคของเติ้ง ควบคู่ไปกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้คือ ไม่เกิน 2% (จากเดิม 20%)

.

ในช่วงทศวรรษที่ 90 เจียงสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่ง ประกอบกับในปี 1997 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย  จีนใช้มาตรการทางการคลังและการเงินพร้อม ๆ กัน หรือรู้จักกันในชื่อ มาตรการหงกวนเถียวคัง[2] มาตรการดังกล่าวสามารถกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้พ้นจากภาวะวิกฤตการเงินเอเชียได้ และยังส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 7 %

.

ปลายปี 2002 เจียงเจ๋อหมิน ได้ส่งมอบอำนาจให้ผู้นำพรรครุ่นที่ 4 คือ หู จิ่น เทา  ภาระหน้าที่ของหู คือ สานต่อนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างโดยดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจให้รุดหน้า  หูจิ่นเทา ได้กำหนดแนวคิดในการสร้างสังคมเสี่ยวคังของเติ้งให้เป็นสังคมจีนที่อยู่ดีกินดีรอบด้าน ภายใน 20 ปี (2001- 2020) โดยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจีนฉบับที่ 10 (2001 - 2005) จีนวางแผนในการปรับภาวะความอยู่ดีกินดีของประชาชนในชาติอย่างรอบด้าน โดยถือว่าประชาชนเป็นเจ้าภาพร่วมในการพัฒนาประเทศการสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตที่สามารถอยู่ดีกินดีรอบด้าน คือ

.

1.การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในปี 2010 ให้มี GDPโตเป็น 2 เท่าของปี 2000 และขนาดเศรษฐกิจของปี 2020 โตเป็น 2 เท่าของปี 2010  โดยในปี 2020 รายได้ต่อหัวของประชากรจีนจะอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์  ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของประชากรจีนอยู่ประมาณ 1,000 ดอลลาร์ต่อปี

2.พัฒนาระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยสังคมนิยมของจีนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยดำเนินการปกครองด้วยระบบนิติธรรมกับระบบคุณธรรมให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ  สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนจีนจักต้องได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง

3.ยกระดับคุณธรรมและคุณภาพทางจิตใจของประชาชนในชาติรวมถึงยกระดับการศึกษาของประชาชนทุกชนชาติและพัฒนาสุขภาพทางกายและใจของประชาชนให้ดีขึ้น

4.เสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล

.
โดยสรุปแล้วสังคมจีนที่ อยู่ดีกินดีรอบด้าน จะต้องประกอบด้วยความเจริญทางวัตถุและทางจิตใจและระบบการบริหารจัดการของรัฐที่ดีภายใต้ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน  ก่อนหน้าที่เจียงเจ๋อหมินจะวางมือ เขาได้นำเสนอหลักคิดสำคัญเรื่อง 3 ตัวแทน เพื่อเป็นแนวทฤษฎีชี้นำการพัฒนาศักยภาพการบริหารงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบัน  สาระสำคัญของทฤษฎี 3 ตัวแทน คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่บริหารประเทศจะต้อง
.

1.เป็นตัวแทนความเรียกต้องการของพลังการผลิตที่ก้าวหน้า

2.เป็นตัวแทนทิศทางพัฒนาการของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า

3.เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของปวงมหาชน

.

พัฒนาการเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่ปี 1949 ถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการปรับตัว โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กุมบังเหียนจีนมาตลอด จีนยังเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีการปกครองแบบสังคมนิยม แต่จีนเลือกที่จะนำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมาใช้  เศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยมของจีนมีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งนี้ผู้นำพรรคในแต่ละยุคต่างมีแนวคิดในการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันไป มาถึงวันนี้จีนกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในศตวรรษที่ 21 ภายใต้นิยามคำว่า 1 ประเทศ 2 ระบบ   

.
ศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน

การปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย 4 ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง ตั้งแต่ปี 1979 ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนทั้งในด้านทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจีนมีทรัพยากรถ่านหินเหลือเฟือ หรือทรัพยากรมนุษย์  นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นศักยภาพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการบริหารจัดการประเทศให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง

.

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงยึดมั่นในหลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันก็มองเศรษฐกิจตลาดเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สามารถนำมาใช้ได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศให้ก้าวสู่ความทันสมัยและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีรอบด้าน  ดังนั้นเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยม แบบจีนจึงมีความแตกต่างจากเศรษฐกิจตลาดแบบทุนนิยม คือ เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมตั้งอยู่บนฐานของส่วนรวม มิใช่ฐานของปัจเจกชน ดั่งเช่น ทุนนิยม  เศรษฐกิจที่ตั้งบนฐานของส่วนรวมประกอบด้วย วิสาหกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยรวมขณะเดียวกันระบบตลาดสังคมนิยมจะมุ่งเน้นความมั่งคั่งร่วมกัน ความมั่งคั่งร่วมกันนี้ผู้ใดมั่งคั่งก่อน หรือเขตใดมั่งคั่งก่อนจะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลส่วนอื่น ๆ ในสังคมด้วย

.

ในยุคของเจียงเจ๋อหมิน  จีนสามารถสำแดงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ชัดเจน สาเหตุประการสำคัญมาจากนโยบาย 4 มันสมัย และระบบเศรษฐกิจตลาดในการจัดสรรทรัพยากรรวมถึงการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความชาญฉลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ หรือรู้จักกันในนามของมาตรการหงกวนเถียวคัง[1] เป็นกลไกการควบคุมการทำงานของเศรษฐกิจตลาดในระดับองค์รวมให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันสามารถปรับและควบคุมให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปอย่างมีเสถียรภาพ  พรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุคของเจียงสามารถทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจขยายตัวในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่มีปัญหาเงินเฟ้ออีกทั้งจีนสามารถรับมือโรคต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่ระบาดจากไทยโดยจีนไม่ต้องลดค่าเงินหยวน

.

การมีจำนวนประชากรจำนวนมากของจีนก็ถือเป็นศักยภาพในการพัฒนาตลาดภายในประเทศ  รัฐบาลจีนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน โดยลดการพึ่งพาตลาดการส่งออกภายนอกได้  ขณะที่จำนวนประชากรที่มากก็เป็นตลาดใหญ่ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศได้  จีนยุคเติ้งและเจียง จึงหันมาเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ  การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ทำให้จีนเรียนรู้และดูดซับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้สะท้อนศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนเช่นกัน

.

หลินอี้ฟู[2] นักเศรษฐศาสตร์จีนยุคปฏิรูปเศรษฐกิจได้กล่าวถึงพัฒนาการเศรษฐกิจจีนไว้ในหนังสือชื่อ จงกั๋วจิงจี้ก่ายเก๋ออวี๋ฟาจ่าน หรือการปฏิรูปและพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศจีนโดยหลินได้สรุปภาพรวมการพัฒนาไว้ ดังนี้

1.การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในยุคของเหมา (1949 - 1979) เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักก็เพื่อตามประเทศมหาอำนาจตะวันตกให้ทันแต่กลับล้มเหลวทั้งในแง่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งนี้สาเหตุหนึ่งมาจากการวางแผนที่ผิดพลาดจากส่วนกลาง

2.การพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่หรือยุคปฏิรูป(ตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา) เติ้งเสี่ยวผิงได้เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจในระดับจุลภาคโดยรัฐกระจายอำนาจสู่มวลชนให้ชุมชนในระดับครอบครัวมีอำนาจในการตัดสินใจในการผลิตมากที่สุด  โดยได้รับสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากการขายหรือส่งมอบให้แก่รัฐอย่างเต็มที่ เป็นผลให้เกิดการขยายตัวของพลังการผลิต การผลิตที่ให้กำไรเป็นแรงกระตุ้นในการขยายตัวการผลิตและการลงทุนที่หลากหลายและต่อเนื่อง

3.ความได้เปรียบที่สำคัญของเศรษฐกิจจีน คือ มีแรงงานจำนวนมาก  เมื่อมีมากทำให้แรงงานมีราคาถูก

4.การปฏิรูปเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในระยะเริ่มต้นกว่าจะสัมฤทธิผลต้องใช้เวลานาน  การปฏิรูปเศรษฐกิจที่เริ่มจากระดับจุลภาคจะนำไปสู่การปฏิรูปในระดับมหภาคโดยการครอบครองทรัพย์สินของรัฐอย่างรวมศูนย์จะค่อย ๆ นอยลงไป  ขณะเดียวกันการให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกับประชาชนจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว  ประชาชนจะมีอำนาจซื้อมากขึ้นปัญหาที่จะตามมา คือ การแย่งชิงทรัพยากรในอนาคต

5.การพัฒนาเศรษฐกิจจีนโดยตัวเองมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว  รัฐบาลต้องสำนึกในเป้าหมายที่แท้จริงของการปฏิรูปโดยการปฏิรูปเริ่มต้นที่ระดับเล็กสุด  การพัฒนากลไกการกระจายอำนาจการตัดสินใจสู่ภาคประชาชน  ภาคประชาชนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การขยายการลงทุนและเป็นปัจจัยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

.

เมื่อวิเคราะห์ถึงความได้เปรียบของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน  เราพบว่า ความได้เปรียบดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่ศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนประกอบด้วย

1.การบริหารต้นทุนที่ดีในด้าน Research and Development

2.การบริหารความสามารถในการประกอบการที่มีประสิทธิภาพ  

3.การปรับโครงสร้างองค์กรให้คล่องตัว

4.การบริหารการตลาดที่ดี โดยพยายามสร้างชื่อยี่ห้อสินค้าตนเองตลอดจนทำให้สินค้าตนเองมีความแตกต่างได้ง่าย

5.การบริหารการเงินในกระแสการเปิดเสรีการเงินของโลก แม้ว่าการเปิดเสรีทางการเงินจะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีตลอดเวลาแต่การบริหารความเสี่ยงยังเป็นสิ่งจำเป็นวิสาหกิจจีนส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้การบริหารความเสี่ยงมากขึ้นทั้งน้าภาคการเงินของจีนยังมีปัญหาอยู่และอาจจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญในการทำลายระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของจีนในอนาคตได้

6.การบริหารนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะในแง่เทคโนโลยี จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก  โดยในปี 2000 จีนลงทุนในค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ถึง 89,000 ล้านหยวน รวมทั้งจัดตั้งเขตวิทยาศาสตร์ไฮเทค[3] จำนวน 53แห่ง โดยจีนเองสามารถทำรายได้จากการขายผลงานทางวิทยาศาสตร์ถึง12,000 ล้านหยวน

7.การบริหารข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันจีนก้าวสู่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตฉกเช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลก ตัวเลขล่าสุดยืนยันว่าจีนเป็นประเทศที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอันดับสองของโลกรองจากอเมริกา

.

จีนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ก็เป็นอีกศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน โดยเป็นจุดดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในยุคของเติ้งได้เลือกเขตเศรษฐกิจพิเศษแถบเมืองชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ เซินเจิ้น  จูไห่  ซ่านโถว และเซียเหมิน  โดยมุ่งดึงทุนจากฮ่องกง  หลังจากนั้นจีนได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นตั้งแต่ภาคตะวันออกไปจนถึงทางเหนือ จนกระทั่งการเปิดเซี่ยงไฮ้ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยกำหนดเขตตะวันออกของแม่น้ำหวงผู่  หรือผู่ตง ให้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุน  เขตผู่ตงมีเป้าหมายในการเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารและอุตสาหกรรมไฮเทคของจีน  ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญของจีน ได้แก่ เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียงที่มีนครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลาง และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงที่มีนครกวางโจว และเซินเจิ้นเป็นแกน  รวมถึงแถบชายฝั่งทะเลและภาคพื้นส่วนในของประเทศ เช่น ฉงชิง-เฉินตู

.

โดยสรุปแล้วศักยภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการทั้งในแง่ของการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัยเติ้ง  และการควบคุมเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพในสมัยของเจียง  สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความสามารถของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการบริหารจัดการเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ขณะเดียวกันประชากรจีนจำนวนมากก็ถือเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะจำนวนประชากรที่มากนอกจากจะทำให้จีนมีแรงงานเหลือเฟือแล้ว ยังทำให้ค่าแรงมีราคาถูกด้วย สิ่งเหล่านี้จึงจูงใจให้นักลงทุนจากต่างชาติย้ายฐานการผลิตมายังจีน ประกอบกับจีนเปิดประเทศให้ต่างประเทศมาลงทุนการมีประชากรมากย่อมเป็นแรงดึงดูดอีกทางให้นักลงทุนแสวงหาตลาดที่มีขนาดใหญ่  ปัจจัยอีกประการที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีน คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รัฐบาลจีนลงทุนในการวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างมากเพื่อสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยลดการขาดดุลทางการค้าจากการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพง  ปัจจัยสำคัญอีกประการที่แสดงศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจจีน คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่รัฐบาลจีนส่งเสริมให้มีการลงทุนโดยให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจ

.

[1] การสร้างสังคม communist ของเหมาเจ๋อตุงประกอบด้วยหลัง 4 ประการคือการต่อสู้ความไม่เห็นแก่ตัว       การเข้าร่วมอย่างแข็งขัน( active participation ) และการไม่ส่งเสริมความเป็นผู้เชี่ยวชาญ

[2] เหมาสรุปความขัดแย้งไว้ 3 ประการ คือ ความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท   ระหว่างอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรม    ระหว่างแรงงานที่ใช้สนองกับแรงงานที่ใช้กำลังกาย

[3] SEZs จะให้สิทธิพิเศษในด้านต่างๆแก่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตลอดจนให้อิสระในการลงทุน

[4] มาตรการหงควนเถียวคัง หรือ กลไกการควบคุมการทำงานของเศรษฐกิจแบบตลาดในระดับองค์รวมที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่นในช่วงเศรษฐกิจขาลง  รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลโดยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยลดดอกเบี้ยแล้วเปิดตลาดซื้อบ้านเงินผ่อนเป็นต้น

[5] หงกวนเถียวคัง มีความคล้ายคลึงกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ Discretionary Policy หรือดำเนินนโยบายแบบจงใจทั้งนี้รัฐจะต้องคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอย่างแม่นยำ

[6] ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์จีนชื่อดังมีอย่างน้อย 3 คนที่ศึกษาผลงาน คือ หวูจิ้งเหลียง  หูอันกัง  และหลินอี้ฟู

[7] เขตจงกวานชุน ในปักกิ่งเป็นเขตที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง กล่าวกันว่า จงกวานชุนก็คือซิลิคอนวัลเลย์ของจีนนั่นเอง