เนื้อหาวันที่ : 2010-10-14 10:27:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2432 views

ดีเอชแอล เผยสามอุปสรรคขวางการขยายตลาด

ดีเอสแอลระบุ ปัจจัยด้านต้นทุนภาษี การเปิดเสรีตลาดช้า และช่องทางจัดจำหน่ายล้าสมัย เป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายตลาดใหม่ ชี้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเศรษฐกิจโตแน่

.

ดีเอสแอลระบุ ปัจจัยด้านต้นทุนภาษี การเปิดเสรีตลาดช้า และช่องทางจัดจำหน่ายล้าสมัย เป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายตลาดใหม่ ชี้การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ มีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจ  

.

ในขณะที่ทั่วโลกตั้งความหวังว่าตลาดเกิดใหม่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวและฟื้นตัว ดีเอชแอล (DHL) ระบุว่า ยังมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ ต้นทุนภาษีศุลกากรซึ่งอยู่ในระดับสูง การเปิดเสรีตลาดที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยังขาดการพัฒนา

.

ร็อบ ซีเกอร์ส (Rob Siegers) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ DHL Global Customer Solutions กล่าวว่า “ตลาดเกิดใหม่ร้อนแรง (Hotspot) 12 แห่งตามที่ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟซึ่งได้รับการเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตมากกว่าเศรษฐกิจหลักของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วรวมกัน

.

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เราก็ต้องจับตาดูลอจิสติกส์และซัพพลายเชนให้ดี เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” 

.

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ ดีเอชแอลจึงมีบทบาทสำคัญในการอำนายความสะดวกด้านการค้าระหว่าง 220 ประเทศและอาณาเขตต่างๆทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และเศรษฐกิจหลักทุกประเทศ

.

ดีแอชเอลเชื่อว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายการขยายตัว รวมทั้งรองรับความต้องการด้านลอจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นได้นั้น ตลาดเกิดใหม่จำเป็นต้องเร่งเพิ่มศักยภาพเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทุกรูปแบบ เร่งเปิดเสรีตลาดและพัฒนาเขตการค้าเสรี รวมถึงลดต้นทุนด้านภาษีศุลกากร

.

ริชาร์ด โอเวนส์ (Richard Owens) ซีอีโอของ DHL Global Customer Solutions ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “สำหรับในเอเชียแปซิฟิก เกือบ 15% ของต้นทุนซัพพลายเชนยังคงเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศุลกากรและระเบียบข้อบังคับต่างๆ เทียบกับแค่ 3% ในยุโรป 

.

ในฐานะที่ลอจิสติกส์เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของการค้าทั่วโลก การแบ่งเบาภาระด้านการขนส่งสินค้าและบริการผ่านกระบวนการลอจิสติกส์ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายของรัฐที่ดีขึ้น จะช่วยให้ตลาดเกิดใหม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามกำหนด”

.

“อุตสาหกรรมที่ขยายตัวเป็นหลักอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เวชภัณฑ์ และพลังงานทดแทน จำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน”

.

ผลการศึกษาของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า ศักยภาพด้านลอจิสติกส์ของแต่ละประเทศมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศนั้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีการพัฒนาในระดับเดียวกัน นอกจากนั้นในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม ดีเอชแอลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเหนือสิ่งอื่นใด และมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 30% ภายในปีพ.ศ. 2563

.

โอเวนส์กล่าวว่า “ถ้าต้องการประสบความสำเร็จในระยะยาว ตลาดเกิดใหม่ต้องให้ความสำคัญกับโซลูชั่นซัพพลายเชนที่มีความยั่งยืน ตั้งแต่การขนส่งสินค้าและสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อรองรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไปจนถึงการผ่านกระบวนการทางศุลกากรที่ซับซ้อน

.

ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมลอจิสติกส์สามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมตลาดเกิดใหม่ให้ขยายตัวต่อไปในระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยการสนับสนุน ลงทุน และขยายศักยภาพด้านลอจิสติกส์เพื่อรองรับความต้องการล่วงหน้า”

.

ประเทศเศรษฐกิจ “ร้อนแรง” ประกอบด้วยเม็กซิโก ตุรกี รัสเซีย จีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลี ไต้หวัน ไทย อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งจีดีพีของประเทศเหล่านี้รวมกันมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 7.2% ในปี 2558 เทียบกับกลุ่มประเทศจี7 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.1%

.

และคาดว่าจีดีพีโดยรวมของประเทศเศรษฐกิจร้อนแรงดังกล่าวจะมีสัดส่วน 38% ของจีดีพีโลกภายในปี 2558 ซึ่งมากกว่าของกลุ่มจี7 อยู่ 2% โดยในปีที่แล้ว จีดีพีของประเทศเศรษฐกิจร้อนแรงเหล่านี้ขยายตัวเฉลี่ย 2.8% เทียบกับกลุ่มจี7 ที่ติดลบ 3.4% ขณะที่จีดีพีของประเทศเศรษฐกิจร้อนแรงเหล่านี้มีสัดส่วน 32% ของจีดีพีโลก น้อยกว่ากลุ่มประเทศจี7 เพียง 9% เท่านั้น”

.

สำหรับอุปสรรคอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ที่ดีเอชแอลกล่าวถึงประกอบด้วย ตลาดที่มีความแตกต่างและหลากหลาย (fragmented market) ความไม่แน่นอนทางการเมือง การเพิ่มจำนวนขึ้นของประชากรที่มีรายได้จำกัด ปัญหาด้านภาษาและการสื่อสาร รวมถึงระดับเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในกลุ่มประชากร