หลังเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อปี 1929 ถึงปี 1933 ปัญหาการว่างงานนับเป็นปัญหารุนแรงที่สุดโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีสถานการณ์มักจะสร้างวีรบุรุษเสมอ และวีรบุรุษคนใหม่ที่ว่านั้นก็คือ John Maynard Keynes
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ |
. |
. |
ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว หลังเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อปี 1929 ถึงปี 1933 ปัญหาการว่างงานนับเป็นปัญหารุนแรงที่สุดโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีสถานการณ์มักจะสร้างวีรบุรุษเสมอ และวีรบุรุษคนใหม่ที่ว่านั้นก็คือ John Maynard Keynes (ภายหลัง Keynes ได้รับพระราชทานยศเป็นท่านเซอร์) |
. |
หนังสือเล่มสำคัญของ Keynes ที่ชื่อ The General Theory of Employment, Interest and Money ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1936 มีส่วนสำคัญในการแยกวิชาเศรษฐศาสตร์ออกเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) และเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) |
. |
เศรษฐศาสตร์จุลภาคยังคงยึดแนวทางการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจแบบ Neoclassical หรือสำนัก Cambridge School ภายใต้การนำของปรมาจารย์ Alfred Marshall ฐานที่มั่นของสาย Microeconomics ยังคงปักหลักอยู่บนแผ่นดินยุโรป |
. |
บรรดาเหล่านักจุลเศรษฐศาสตร์หรือ Microeconomists ต่างพัฒนาแนวคิดของตัวเองอย่างเงียบ ๆ ซึ่งแตกต่างจากนักมหเศรษฐศาสตร์ (Macroeconomists) ที่มักจะสร้างความหวือหวาให้กับแวดวงวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่หลายคนยอมอุทิศตัวเป็นสาวกเคนส์ทั้งในอังกฤษซึ่งฝังตัวอยู่ที่ Cambridge และในอเมริกา |
. |
เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ในตำราเศรษฐศาสตร์มหภาค |
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เป็นช่วงเวลาที่ Keynes สิ้นบุญพอดี (Keynes เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกำเริบในปี 1946) เขาได้ทิ้งมรดกทางความคิดไว้หลายอย่างนอกเหนือจากวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคแล้ว Keynes ยังมีส่วนในการผลักดันองค์กรโลกบาลอย่าง IMF ให้เกิดขึ้น แม้เขาจะไม่มีโอกาสได้เห็นผลงานขององค์กรนี้ก็ตามที |
. |
โลกยุคหลังสงคราม (Postwar) นำมาซึ่งการแบ่งค่ายทางความคิดระหว่างค่ายทุนนิยมที่นำโดยพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกาและค่ายสังคมนิยมภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต การแบ่งฝ่ายดังกล่าวทำให้เกิดสงครามที่เรียกว่าสงครามเย็นหรือ Cold War ซึ่งเป็นการต่อสู้กันทางความคิดทางการเมืองและวิธีการจัดการเศรษฐกิจ |
. |
สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีกว่าคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุผลที่จะพิทักษ์ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขณะที่สหภาพโซเวียตได้แผ่อิทธิพลทางความคิดของลัทธิมาร์กและเลนินไปทั่วทั้งยุโรปตะวันออกแม้กระทั่งจีนและคิวบา อย่างไรก็ตามในโลกของทุนนิยมเองก็ยังเกิดการแตกแขนงทางความคิดที่หลากหลายโดยเฉพาะในแวดวงวิชาเศรษฐศาสตร์ |
. |
เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์สามารถตอบสนองการเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะการเลือกใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมหรือ Aggregate Demand อันนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและรายได้รวมไปถึงการเพิ่มการจ้างงาน |
. |
บรรดาสานุศิษย์ของเคนส์ต่างออกมาสนับสนุนแนวคิดของเคนส์กันมากมายโดยเฉพาะการใช้กราฟและสมการคณิตศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ภาพแรก ๆ ที่เรามักคุ้นเคยกับนักเศรษฐศาสตร์คือคนที่ชอบพูดถึงสมการและกราฟ เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ในยุคก่อร่างสร้างตัวมีนักเศรษฐศาสตร์หนุ่ม ๆ ทั้งจากฝั่งอังกฤษและอเมริกันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบุกเบิกงาน |
. |
นักเรียนเศรษฐศาสตร์จะจำได้ดีกับเส้น 45 องศาหรือ Keynesian Cross เส้นสองเส้นนี้เป็นตัวแบบที่ Paul L Samuelson นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจาก M.I.T. ในยุคนั้นประดิษฐ์ขึ้น Keynesian Cross เป็นตัวแบบที่ใช้อธิบายการกำหนดรายได้ประชาชาติดุลยภาพอันเป็นแนวคิดเริ่มต้นในการวิเคราะห์บทบาทของอุปสงค์รวม |
. |
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าในระบบเศรษฐกิจแบบปิด (Closed Economy) หรือระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีการติดต่อทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเลย อุปสงค์รวมของทั้งระบบเศรษฐกิจประกอบไปด้วยรายจ่ายในการบริโภค (Consumption Expenditure), รายจ่ายในการลงทุน (Investment Expenditure) และรายจ่ายของรัฐบาล (Government Expenditure) |
. |
อย่างไรก็ดีในโลกของความเป็นจริงทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ด้วยกันทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับระดับของการเปิดประเทศจะมีมากน้อยเพียงใด จึงทำให้องค์ประกอบของอุปสงค์รวมในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ตัวแปรสำคัญ คือรายรับที่ได้รับจากการส่งออกหรือ Export Revenue และรายจ่ายที่จ่ายไปจากการนำเข้าสินค้าหรือ Import Expenditure Samuelson ได้สนับสนุนแนวคิดของ Keynes ที่ว่า |
. |
ระดับรายได้หรือผลิตภัณฑ์ประชาชาติดุลยภาพคือระดับรายได้ที่ทำให้อุปสงค์มวลรวมเท่ากับผลิตภัณฑ์ประชาชาติหรืออาศัยสมการอธิบายได้ว่า Y = C+I+G+(X-M) ฝั่งซ้ายของสมการคือรายได้ประชาชาติจะเท่ากับฝั่งขวาคือองค์ประกอบทั้ง 5 ของอุปสงค์มวลรวม |
. |
Keynesian Cross หรือ เส้น 45 องศา ประดิษฐกรรมทางความคิดของ Paul L Samuelson กราฟสองเส้นแรกที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์คุ้นเคย |
. |
Paul Samuelson |
. |
ตัวแบบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สนับสนุนความคิดของเคนส์ได้อย่างมีระบบและชัดเจนมากขึ้น คือ ตัวแบบเรื่อง IS-LM Model ซึ่งพัฒนาโดยท่าน Sir John Hicks และ Alvin Hansen ทั้งนี้เส้น IS เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ยและระดับรายได้ดุลยภาพในตลาดผลผลิต |
. |
ขณะที่เส้น LM จะแสดงความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ยและระดับรายได้ดุลยภาพในตลาดเงิน ดังนั้น ในแง่ของการบริหารเศรษฐกิจมหภาค รัฐสามารถเพิ่มหรือลดรายได้โดยเลือกใช้นโยบายการคลังหรือนโยบายการเงินในการจัดการกับระบบเศรษฐกิจโดยอธิบายผ่านตัวแบบนี้ |
. |
2 นักเศรษฐศาสตร์ผู้พัฒนาตัวแบบ IS-LM |
. |
ตัวแบบ IS-LM ตัวแบบพื้นฐานที่สนับสนุนเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ได้อย่างมีระบบ |
. |
เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ยังขยายพรมแดนไปอธิบายเรื่องของการบริโภคและการลงทุน โดยนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Franco Modigliani ได้อธิบายทฤษฎีการบริโภคในวงจรชีวิตหรือ Life Cycle Theory of Consumption โดยเชื่อว่าระดับการบริโภคของครัวเรือนมิได้ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ในงวดเวลาปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับรายได้ที่เขาคาดว่าจะได้รับในอนาคตอีกด้วย |
. |
ในด้านทฤษฎีการลงทุน James Tobin จาก Yale ได้พัฒนาทฤษฎีการลงทุนที่อยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่าปัจจุบันของกำไรและการลงทุน พลพรรค Keynesian ยังร่วมกันพัฒนาทฤษฎีการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ Growth Theory นำโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจาก M.I.T. อย่าง Robert M Solow ที่สร้างแบบจำลองการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสรุปว่าการออมมีส่วนสร้างความจำเริญให้กับเศรษฐกิจในลักษณะ Level Effect |
. |
แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีผลต่อความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้าง Growth Effect ขึ้นมาอย่างแท้จริง กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่นิยมชมชอบในเรื่อง Economic Growth ต่างต่อยอดความคิดของ Solow จนทำให้ Growth Theory มีความเข้มแข็งทั้งในแง่แนวคิดและการนำวิชาคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ |
. |
พลพรรค Keynesian ผู้มีส่วนสร้างองค์ความรู้ให้กับวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค |
. |
คุณูปการของ Keynes ยังทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่รัฐบาลประธานาธิบดี John F Kennedy ซึ่งมีคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคได้ทำให้คำว่า Economist ดูดีมีเสน่ห์และดึงดูดให้นักเรียนเก่ง ๆ หลายคนอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ |
. |
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายท่านมีภูมิหลังทางการศึกษาที่แตกต่างกัน เช่นจบการศึกษามาทางวิศวกรรม คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ กฎหมาย แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ |
. |
แต่ในท้ายที่สุดก็มาลงเอยกับวิชาเศรษฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีมนต์ขลังอยู่ภายในตัวของมันเอง วิชาเศรษฐศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากพอที่จะสามารถสร้างโมเดลทางเศรษฐกิจเพื่อพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (แม้ว่าจะทำนายไม่ค่อยถูกก็ตาม) |
. |
นอกจากนี้เศรษฐศาสตร์ยังเป็น Social Science สาขาเดียวที่มีการมอบรางวัลโนเบลให้ ซึ่งธนาคารกลางสวีเดนจะเป็นผู้คัดเลือกนักเศรษฐศาสตร์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกในแง่ความคิดทางเศรษฐกิจ ซึ่งบรรดาสาวก Keynes ในยุคต้น ๆ |
. |
เช่น Samuelson ได้รับรางวัลนี้ตั้งแต่ปี 1970 นับเป็นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ Hicks (1972), Modigliani (1985), Tobin (1981) และ Solow (1987) ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับรางวัลนี้ด้วยกันทั้งสิ้น |
. |
สำหรับตอนต่อไปเราจะมาคุยกันต่อถึงการนำเอาแนวคิด Keynesian ไปใช้ในอเมริกาทศวรรษที่ 50-60 ซึ่งนับเป็นยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุดของบรรดาสานุศิษย์ของเคนส์ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหนักอกทางเศรษฐกิจก็ได้ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งและกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เริ่มเสื่อมสลาย พร้อมกับผู้ท้าชิงรายใหม่ที่ชื่อ Milton Friedman |
. |
เอกสารอ้างอิง |
1. ภาพจาก www.economyprofessor.com |