เนื้อหาวันที่ : 2007-02-20 09:15:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1422 views

นักเศรษฐศาสตร์ จี้รัฐให้ความสำคัญการลงทุนเหมือนส่งออก

นักเศรษฐศาสตร์เสนอรัฐบาลทำความเข้าใจนักลงทุนต่างชาติ และให้ความสำคัญต่อการลงทุน เช่นเดียวกับการส่งออก เพื่อผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐควรเร่งแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ยังเรื้อรัง

นักเศรษฐศาสตร์เสนอรัฐบาลทำความเข้าใจนักลงทุนต่างชาติ และให้ความสำคัญต่อการลงทุน เช่นเดียวกับการส่งออก เพื่อผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ด้านชัยอนันต์ สมุทวณิช  แนะรัฐบาลเร่งจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่ยังเรื้อรัง ชี้อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นการชะลอตัวทางการเมือง ส่วน เอนก เหล่าธรรมทัศน์  ตั้งฉายาการทำงานรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นพรมลูกฝัก

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวทีสัมมนา ประเทศไทยบนเส้นทางสู่อนาคต ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไปมาก ลัทธิการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้พยายามขจัดอำนาจเก่า แต่ในทางเศรษฐกิจนักลงทุนมองว่ายังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ย้ำเกี่ยวกับการขจัดปัญหาการถือหุ้นแทน หรือนอมินี ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเป็นห่วงเรื่องนี้และออกมาคัดค้านอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้กระทบต่อการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวมถึงมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อต้องการดูแลผู้ส่งออก ทำให้นักลงทุนมองว่าเริ่มมีการส่งสัญญาณไม่ต้อนรับทุนนิยม ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ได้ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งอธิบายถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลจะหวังเรื่องรายได้จากการส่งออกและให้การขยายตัวของการส่งออกเท่ากับจีดีพี ในเชิงปริมาณคงไม่ได้ แต่ควรส่งเสริมการขยายในเชิงคุณภาพและเพิ่มมูลค่ามากกว่า และให้ความสำคัญต่อการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว

นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เน้นวางนโยบายที่หวังผลในเชิงคะแนนเสียงและให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งยอมรับว่าได้ขับเคลื่อนให้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงหลายด้านเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาในปัจจุบันคือ ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะต้องรอดูว่าจะมีวิธีการเลือกตั้งอย่างไร องค์กรอิสระจะเป็นอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญปี  2540 ได้ให้บทเรียนเรื่องผลดีผลเสียทางการเมืองให้แก่ทุกฝ่ายแล้ว ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะเห็นรัฐธรรมนูญเป็นรูปร่าง และจะเริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันในกลุ่มนักการเมืองซึ่งอาจมีต่อการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ

นายชัยอนันต์ กล่าวว่า จากนี้ไปจะเห็นการรวมกลุ่มของนักการเมืองมากขึ้น เพราะจะมีการตัดสินคดียุบพรรคในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ ส.ส.ที่อยู่กับพรรคไทยรักไทย 115 คน และ ส.ส.ที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์  49 คน หากถูกตัดสินยุบพรรคบุคคลดังกล่าวจะถูกห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมืองถึง 8 ปี โดยเฉพาะนักการเมืองรุ่นใหม่  นอกจากนี้ ยังจะต้องเดินหน้าคดีสอบสวนเรื่องต่าง ๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หาก พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาอยู่เบื้องหลัง จะใช้คะแนนนิยมที่ผ่านมากับกลุ่มที่อยู่ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งต่อการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร ก็ยังไม่หยุดและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของกลุ่มต่าง ๆ จะเข้มข้นขึ้น ส่วนท่าทีของทหารหลังจากเดิมไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาหลายปี แต่เมื่อพบกับปัญหาหลายประการของนักการเมือง จึงคิดว่าต่อไปคงไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กลับขึ้นมาอีก เพราะมุมมองของทหาร กลุ่มพันธมิตรจะต่อต้านนักการเมืองชุดที่ผ่านมา ดังนั้น จึงคาดว่า 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็นการชะลอตัวทางการเมือง

ส่วนการทำงานของข้าราชการจะระมัดระวังมากขึ้น ตลอดจนการตรวจอนุมัติโครงการต่าง ๆ การเดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเป็นที่นิยมของประชาชนมาก เนื่องจากมีเม็ดเงินหลายช่องทางเข้าถึงมือประชาชน แต่ช่วงนี้จะเป็นการปรับตัวมากกว่า ยอมรับว่าอาจจะเห็นนักการเมืองหน้าเดิม แต่ต่อไปจะเริ่มมีแรงกดดันการชุมนุมประท้วงจากชาวนา เกษตรกร หรือการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนปัญหาภาคใต้  ดังนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะต้องมีหลายมาตรการเข้าไปจัดการปัญหาเหล่านี้ เพราะในช่วง 2-3 ปีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินหน้าต่อสู้คดี แต่หลังจาก 3 ปี ความชัดเจนต่าง ๆ จะมีมากขึ้น โดยจะเห็นผู้นำใหม่ ๆ เข้ามาสู่เวที

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการอิสระ ตั้งฉายาการทำงานรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า พรมลูกฝัก ซึ่งเป็นการกลิ้งไปกลิ้งมา แม้จะเป็นรัฐบาลที่ดี แต่ทำงานได้ไม่มาก เพราะภารกิจหลายด้านมีอยู่มากที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น รัฐบาลจะเป็นพรมลูกฝักเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว สำหรับสิ่งที่จับตามองคือ แนวทางการให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.เท่านั้น รวมถึงการไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะทำให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่เก่งทางการเมืองจะเข้าสู่เวทีการเมืองลำบาก และคงไม่มีใครมาเล่นการเมือง จึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะไม่เห็นการยึดอำนาจไปอีกนาน และแนะว่าการร่างรัฐธรรมนูญแม้จะนำหลักสากลมาใช้ แต่ควรนำมารวมกับการปกครองแบบไทย ๆ  เพื่อให้สามารถปกครองได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลปัจจุบัน ต้องพยายามดึงเรื่องโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจพอเพียงให้เดินหน้าไปด้วยกัน เพราะช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องการเมืองสุดขั้ว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาด้วยความสุดขั้วคงทำได้ยาก ควรแก้ปัญหาการเมืองด้วยสมานฉันท์ ความถูกต้อง และเดินสายกลาง.