เนื้อหาวันที่ : 2010-10-07 11:14:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 633 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 7 ต.ค. 2553

1. ธปท. ห่วงแบงก์ชาติหลายประเทศกดค่าเงินอ่อน

- ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีความกังวลกับสถานการณ์ที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มมีการแข่งขันทำให้เงินสกุลตัวเองอ่อนค่าลง แต่ไม่เชื่อว่าจะถึงขั้นเกิดสงครามค่าเงินอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตุ

.

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจนหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเศรษฐกิจไทยยังเติบโตดีมาก ด้วยปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่ดี แม้จะมีปัจจัยเรื่องการเมือง แต่เงินลงทุนต่างประเทศยังไหลเข้ามา ขณะที่สภาพคล่องทั่วโลกยังสูง

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า นับจากต้นปี 53 เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ร้อยละ 9.42 (จาก 33.33 บาท เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 53 เป็น 30.19 บาทเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 53) และยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังเอเชียเกิดจากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

.

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังคงมีความไม่แน่นอน โดยค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินคู่ค้าสำคัญ(NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 6.63 จากต้นปี นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ระบุว่าพร้อมจะนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบ 2 ออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปอีก

.

2. สภาหอการค้าวอนให้กนง. เบรกขึ้นดอกเบี้ย

- ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ส่งออกกำลังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากรายได้จากการส่งออกลดลงหลังเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ชะลอการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) 

.

เพื่อช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไม่ผันผวนมากนัก อย่างไรก็ตาม เอกชนต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะมาตรการที่ออกมานั้นมีทั้งยาแรงและยาอ่อนต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้มีการปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.75 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากอัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศได้และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ โดยพบว่าข้อมูลในช่วง 8 เดือนแรกของปี 53 เศรษฐกิจไทยมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิกว่าจำนวน 11.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

.

3. ภาคการบริการของสหรัฐ ในเดือน ก.ย. 53 ขยายตัวสูงกว่าประมาณการณ์

- สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมบริการ ณ ก.ย. 53 ขยายตัวในระดับ 53.2 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 52 (ณ เดือน ส.ค. 53 อยู่ระดับที่ 51.5) เป็นสัญญาณในเชิงบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ  ทั้งนี้ ภาคอุตาหกรรมบริการของสหรัฐ ได้แก่ ธุรกิจการค้า -ปลีก บริการด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้าและน้ำประปา ด้านการเงิน ด้านการขนส่งและภาค –อสังหาริมทรัพย์

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวของดัชนีภาคอุตสาหกรรมบริการของสหรัฐที่สูงกว่าคาดการณ์ สะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ หากดัชนีดังกล่าวมีค่าสูงกว่าระดับที่ 50 ถือเป็นการส่งสัญญาณการขยายตัว

.

นอกจากนี้ ระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ล่าสุด ณ ก.ค. 53 (Case-Shiller Home Price Index) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากเดือนก่อน  (%mom)  ถือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภาคบริการมีสัดส่วนที่สูงของมูลค่าเศรษฐกิจรวมของสหรัฐ

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง