เนื้อหาวันที่ : 2010-10-06 11:16:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1412 views

อุตสาหกรรมโลจีสติกส์..เพื่ออนาคตอุตสาหกรรมไทย

การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตข้างหน้าในวันที่แรงงานราคาถูกไม่ใช่ข้อได้เปรียบในการผลิต ส่วนเทคโนโลยีและปัจจัยทุนอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตสามารถซื้อหาได้ทั่วไป สิ่งใดจะเป็นทางออกให้กับภาคอุตสาหกรรมได้บ้าง บทบาทของรัฐบาลจะมีหนทางใดที่จะช่วยให้ผู้ผลิตมีความได้เปรียบในการผลิตเพิ่มขึ้นได้บ้าง

.

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักพัฒนาอุตสาหกรรมได้มุ่งแสวงหาแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตให้แก่ผู้ผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในตลาด ทฤษฎีที่สนับสนุนการค้าเสรีหลากหลายทฤษฎี ทั้งสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอีกมากมาย ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาความสามารถของผู้ผลิต

.

ซึ่งแต่เดิมมาทฤษฎีเหล่านี้ต่างมุ่งเน้นในเรื่องของการ “ลดต้นทุนการผลิต” (Cost Reduction) หรือ “เพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต” (Increasing of Production Efficiency) ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นการพัฒนาที่ยืนบนพื้นฐานเดียวกัน

.

ขณะที่แนวความคิดของการค้าเสรีนี้ได้ทำให้เกิดลักษณะเด่นของระบบอุตสาหกรรมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นั่นคือการย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อแสวงหาปัจจัยการผลิตราคาถูก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงาน (Labor Intensive) ที่มีการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตไปตามประเทศต่างๆ ในโลกเพื่อแสวงหาแรงงานราคาต่ำ

.

ในขณะเดียวกัน ผลของการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังประเทศต่างๆ การกระจายรายได้เหล่านั้นทำให้ประเทศที่เคยมีค่าจ้างแรงงานต่ำมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีผลให้มาตรฐานการดำรงชีวิต (Standard of Living) ดีขึ้น ค่าแรงที่เคยอยู่ในระดับต่ำจึงเพิ่มสูงขึ้น และในที่สุด ประโยชน์ของผู้ผลิตในการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรงเหล่านั้น จึงค่อยๆ หมดไป

.

ดังนั้น ในฐานะนักพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตข้างหน้าในวันที่แรงงานราคาถูกไม่ใช่ข้อได้เปรียบในการผลิต ส่วนเทคโนโลยีและปัจจัยทุนอื่นๆ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตสามารถซื้อหาได้ทั่วไปนั้น สิ่งใดจะเป็นทางออกให้กับนักพัฒนาอุตสาหกรรมได้บ้าง และบทบาทของภาครัฐฯ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมมีหนทางใดที่จะช่วยให้ผู้ผลิตมีความได้เปรียบในการผลิตเพิ่มขึ้นได้บ้าง?

.

บทความนี้ จะชี้ให้เห็นถึงแนวทางของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในอนาคตโดยใช้การอธิบายในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค และยกสมการของ Cobb-Douglas เป็นตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสมที่จะพัฒนาปัจจัยการผลิตอื่นๆ นอกเหนือจากทุนและแรงงาน

.

เนื่องจากทั้งปัจจัยทุนและแรงงานที่เราให้การส่งเสริมและพัฒนาในทิศทางเดิมอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานนั้นอาจจะถึงขีดขั้นที่เราไม่สามารถสร้างผลผลิตจากปัจจัยเหล่านั้นได้อย่างคุ้มค่าอีกต่อไปเนื่องจากแรงงานราคาถูกที่เคยสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ผลิตกำลังจะหมดไป       

.

ขณะเดียวกันราคาปัจจัยทุนก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกขณะโดยเฉพาะสินค้าประเภทพลังงานและเชื้อเพลิง ฉะนั้น จึงถึงเวลาที่นักพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ผลิตจะต้องพิจารณาการพัฒนาปัจจัยการผลิตอื่นๆ ซึ่งก็คือส่วนที่นอกเหนือจากทุนและแรงงานที่อยู่ในสมการการผลิตซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้ความสามารถในการผลิตดีขึ้น

.

ปัจจัยการผลิตที่นอกจากทุนและแรงงานที่สามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตได้นั้น นอกจาก Innovation,Creativity และ Human Capital ที่ถูกกล่าวถึงในหลายๆ ทฤษฏีแล้ว ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเทคโนโลยีและสารสนเทศการขนส่ง การบริหารและการจัดการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของระบบโลจิสติกส์ และเป็นส่วนที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผู้ผลิตได้ 

.

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการพัฒนาและกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ความสำคัญของระบบโลจิสติกส์กันอยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่การพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิตอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นต้องพิจารณาระบบโลจิสติกส์อย่างเป็นองค์รวม หรืออย่างที่เป็น “อุตสาหกรรมโลจิสติกส์”

.
รู้จักกับโลจิสติกส์

รากศัพท์ของ logistics ถอยหลังไปถึงศตวรรษที่ 19 โดยมีความหมายถึงการเคลื่อนย้าย หรือระบบพลาธิการทหาร แต่ช่วงเวลาที่คำนี้ได้ถูกนำมาใช้และแนะนำให้โลกรู้จักอย่างแพร่หลาย ก็คือในช่วงปี 2533 ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War)

.

ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึงกลยุทธ์ (Strategy) ที่สร้างความสำเร็จในการรบ ซึ่งมาจากการมีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การจัดการส่วนสนับสนุนการรบที่ดี โดยการจัดกำลังพล อาหาร และอาวุธยุโธปกรณ์ไปในพื้นที่ที่มีความต้องการได้์ในจำนวนที่เพียงพอและทันต่อเวลา

.
คำจำกัดความ

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่ารากศัพท์ของโลจิสติกส์นั้นนับถอยหลังไปถึงศตวรรษที่ 19 โดยใน Oxford English Dictionary ได้ให้ความหมายของโลจิสติกส์ไว้ว่า “...the detailed coordination of a complex operation involving many people, facilities, or supplies...Military: the organiztion of moving, housing, and supplying troops and equipment...the commercial activity of transporting goods to customers...”

.

ในความหมายดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า โลจิสติกส์ประกอบไปด้วยหน่วยธุรกิจหลายส่วนที่มีการทำงานที่ซับซ้อนร่วมกัน จึงเรียกได้ว่าเป็นระบบโลจิสติกส์ โดยในทางการทหาร วัตถุประสงค์ของระบบโลจิสติกส์คือการส่งกำลังพลาธิการสนับสนุนการรบ ส่วนในภาคการค้าคือการนำพาสินค้าไปสู่ผู้บริโภค

.

นอกจากนั้นแล้ว ในศตวรรษที่ 20 เมื่อระบบโลจิสติกส์ได้รับความสนใจในแง่ที่เป็นกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จของทางการทหารและในทางการค้า ก็ได้มีผู้ให้คำจำกัดความของระบบโลจิสติกส์ไว้เพิ่มเติม เช่น

.

“...กระบวนการวางแผน การดำเนินการ การควบคุม การไหลเวียนและการจัดเก็บสินค้า บริการ และสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล จากจุดเริ่มต้น (Point of Origin) จนถึงจุดของการบริโภค (Point of Customer) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค...” จากสภาการจัดการโลจิสติกส์แห่งสหรัฐอเมริกา (Council of Logistics Management: CLM)

.

“...คือการทำให้อุปทาน (supply) ไปเจออุปสงค์ (demand) อย่างมีประสิทธิภาพ...หมายถึงการบริหารทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนโครงของโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งมองกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ...ฉะนั้น ต้องครอบคลุมตั้งแต่ การบริหารจัดการวัตถุดิบ การบริหารจัดการการสั่งซื้อ การวางแผนการผลิต การจัดลำดับการผลิต การจัดกำลังการผลิต การจัดการโกดังสินค้า การจัดการวัสดุคงคลัง...

.

จนกระทั่งไปถึงการจัดการการขนส่งไปถึงมือลูกค้า การจัดการการขายและบริการลูกค้า...” จาก ผศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ ผู้ประสานงานชุดโครงการ “โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน” สกว. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

.

จากการให้คำจำกัดความข้างต้น จะเห็นได้ว่า ระบบโลจิสติกส์จะครอบคลุมองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือ
    1. เทคโนโลยีและสารสนเทศ
    2. การขนส่ง
    3. การบริหารและการจัดการ

.

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรจะต้องเข้าใจก็คือว่าเนื้อแท้ของระบบโลจิสติกส์นั้นไม่ใช่เพียงแค่องค์ประกอบหลักทั้ง 3 เท่านั้น แต่เป็นการประยุกต์ใช้องค์ประกอบทั้งสามให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อการผลิต ซึ่งในที่สุดผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคโดยรวมนั่นเอง

.
มองโลจิสติกส์ในแง่เศรษฐศาสตร์
ในการพิจารณาสมการการผลิตของ Cobb-Douglas
                Y = ALαKβ,           (1)
หากนำสมการข้างต้นมาแปรให้เป็นสมการเส้นตรง (Linear equation) จะได้เป็น
                Y = A+αL+βK       (2)
.
เมื่อ Y  คือ ผลผลิต
        L  คือ แรงงาน
        K  คือ ปัจจัยทุน
        A  คือ ความสามารถในการผลิตจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทุนและแรงงาน
        α  คือ สัมประสิทธิ์ (Coefficient) ของแรงงาน
        β  คือ สัมประสิทธิ์ (Coefficient) ของทุน
.

แผนภาพที่ 1

.
จากแผนภาพที่ 1
        S1 และ S2  คือสมการการผลิตของผู้ผลิต
        Y   คือปริมาณการผลิต 
.
จากสมการการผลิตที่อ้างถึงข้างต้น ในทางทฤษฎีการเพิ่มผลผลิตหรือ Y นั้น สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้

1. เพิ่มปริมาณปัจจัยการผลิต (K, L) โดยการเพิ่ม ทุน1 แรงงาน แต่ข้อสันนิษฐานนี้จะเป็นจริงในทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการได้ ก็ต่อเมื่อสถานประกอบการสามารถรองรับปริมาณปัจจัยทุนและแรงงานรวมทั้งวัตถุดิบที่จะนำมารอการผลิตที่มากขึ้น หาไม่แล้วปรากฏการณ์ Decreasing returns of factor of production หรือการที่อัตราการเพิ่มผลผลิตลดลงจากการเพิ่มปัจจัยการผลิตก็จะเกิดขึ้นได้

.

โดยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ท้าทายและเป็นความต้องการของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมตลอดมา ก็คือการเพิ่มปริมาณ Y (Y1 -> Y2) โดยรักษาหรือพยายามคงระดับ K และ L เพราะการเพิ่มขึ้นของตัวแปรทั้ง 2 หมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้จึงเป็นที่มาของความพยายามในการเพิ่มความสามารถในการผลิต

.
2. เพิ่มสัมประสิทธิ์ (coefficient) ของปัจจัยการผลิต

จากข้างต้น การพิจารณาเพิ่มปัจจัยการผลิตต่างๆ ของผู้ผลิตมักจะมีต้นทุนแฝงที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นทางเลือกของผู้ผลิตคือ เพิ่มความสามารถในการผลิตให้กับปัจจัยการผลิตแต่ละตัว ซึ่งในทางเศรษฐมิติ ก็คือการเพิ่มสัมประสิทธิ์ (coefficient) ของ K และ L (หรือ α และ β ในสมการของ Cobb-Douglas) ซึ่งจะมีผลทำให้ความชันของเส้นกราฟการผลิตเปลี่ยนไป จาก S1 เป็น S2 (แผนภาพที่ 1)

.

3. การพัฒนาปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทุนหรือแรงงาน เช่น การนำเทคโนโลยี การขนส่ง การบริหารและการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ซึ่งก็คือองค์ประกอบหลักทั้งหมดของระบบโลจิสติกส์นั่นเอง

.

ฉะนั้น โลจิสติกส์ในสมการการผลิต ก็คือองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตที่ไม่ใช่ทุนและแรงงาน แต่เป็นองค์ประกอบหลักที่แทรกอยู่ในทุก ๆ ส่วนที่ไม่ใช่ K และ L หรืออาจกล่าวได้ว่า โลจิสติกส์ คือตัวขับเคลื่อน A ในสมการของ Cobb-Douglas นั่นเอง2

.
พัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
หากพิจารณาว่าองค์ประกอบของโลจิสติกส์ทั้ง 3 คือ เทคโนโลยีและสารสนเทศ การขนส่ง การบริหารและการจัดการ เป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นตัวขับเคลื่อน A ในสมการของ Cobb-Douglas แล้วนั้น ผลของการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของ A จะแตกต่างจากการปรับปรุงสัมประสิทธิ์ปัจจัยการผลิตของ K และ L อย่างไรนั้น พิจารณาได้จากสมการ (2) จะเห็นว่า A คือจุดตัดแกน Y การพัฒนาการผลิตโดยการยกระดับ A จาก A1 เป็น A2
.

โดยการปรับปรุงองค์ประกอบทั้ง 3 ดังกล่าว ย่อมมีผลต่อการยกระดับการผลิตของปัจจัยการผลิตในทุกระดับชั้นของห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดการขยับขึ้นของเส้นกราฟการผลิตของผู้ผลิต (แผนภาพที่ 2) เป็นลักษณะของการขยับที่แสดงถึงประสิทธิภาพของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นในทุกระดับของขนาดทุนและแรงงานที่มีอยู่ จึงเห็นได้ว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเพิ่มสัมประสิทธิ์ของปัจจัยการผลิต K และ L ทีละตัว

.

แผนภาพที่ 2

.

อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมหน่วยธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการหลายสาขา การจะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้สามารถเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนการผลิตส่วนอื่นๆ ได้นั้น จึงอยู่ที่ว่าจะสามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างหน่วยงานและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่

.

เพราะการจะพัฒนาให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือและมีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนและเป็นไปในทางเดียวกัน ฉะนั้นการพัฒนาโลจิสติกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ และรวบรวมหน่วยธุรกิจจำนวนมากเข้ามาอยู่เป็นอุตสาหกรรมเดียวอย่างบูรณาการนั้นจึงมีความสำคัญ

.

เพราะในท้ายที่สุดหากดำเนินการได้สำเร็จและสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วไม่เพียงแต่จะเป็นขยับเส้นกราฟการผลิตให้มีความชันสูงขึ้นเหมือนการพัฒนาความสามารถของ K และ L เท่านั้น แต่จะสามารถขยับสมการการผลิตทั้งเส้นให้ไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นได้ ซึ่งจะถือเป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการผลิตทั้งหมดโดยตรง

.
ผลพลอยได้ของการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

การพัฒนาให้เกิดระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพโดยการสร้างเป็นอุตสาหกรรมได้นั้น นอกจากเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ภาคการผลิตโดยตรงแล้ว ยังมีผลพลอยได้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ได้แก่

.

1. เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น
2. เพิ่มการกระจายรายได้ และการจ้างงานในท้องถิ่น
3. ส่งเสริมการเข้าถึงวัตถุดิบที่มีราคาถูก
4. ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ
5. ลดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
6. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นแกนหลักของระบบเศรษฐกิจไทย

.

ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จึงถือได้ว่าเป็นการทำให้ต้นทุนโดยรวมของสังคมลดลง หรือใน อีกแง่หนึ่ง ก็คือการเพิ่มขึ้นของมาตรฐานและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคโดยรวมนั่นเอง

.

แนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์   

ในหลายประเทศหน่วยงานภาครัฐได้ผลักดันให้เกิดองค์ประกอบที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้แก่

1. ด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ มีการส่งเสริม ช่วยเหลือพัฒนาระบบการค้าและผลักดันระบบการค้าให้เข้าสู่ระบบ e-commerce โดย

.

1.1 การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานสินค้าเพื่อนำสินค้าเข้าสู่ตลาดกลางทางอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากการเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น สินค้าต้องมีมาตรฐานเพียงพอที่จะสามารถแบ่งกลุ่มประเภทและขนาดได้ นอกจากนั้น การสร้างมาตรฐานสินค้ายังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับการซื้อ ขาย และตั้งราคาอีกด้วย

.

1.2 การส่งเสริมให้มีตลาดกลางและตลาดรวมสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) ที่สนับสนุนโดยภาครัฐเพื่อช่วยผู้ผลิตและผู้ค้าโดยรวมในการกระจายสินค้าและเข้าถึงวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถการแข่งขัน

.

2. ด้านการขนส่ง ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ (3rd Party Service Provider) โดยส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ในผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อสร้างประสิทธิภาพการขนส่งให้มีมากยิ่งขึ้น

.

3. ด้านการบริหารและการจัดการ สนับสนุนการสร้างระบบช่วยการตัดสินใจ (Decision Support) ต่างๆ ได้แก่
 - ระบบสนับสนุนการเลือกเส้นทาง เลือกผู้ให้บริการ หรือเลือกประเภทการขนส่งให้เหมาะสมกับประเภทสินค้า
 - ระบบการบริหารรถเที่ยวเปล่า
 เป็นต้น

.
บทสรุป

การพัฒนาอุตสาหกรรมได้เดินทางบนแนวทางเดิมมาเป็นระยะเวลาหลายปี ถึงแม้ว่าการพัฒนาปัจจัยการผลิตหลักทั้งทุนและแรงงานนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่การพิจารณาพัฒนาปัจจัยการผลิตส่วนอื่นอาจให้ความคุ้มค่ามากกว่า

.

ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตควรเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของปัจจัยการผลิตอื่นที่ไม่ใช่ทุนหรือแรงงาน ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมโลจิสติกส์

.

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่นำองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือ เทคโนโลยีและสารสนเทศการขนส่ง การบริหารและการจัดการ เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการผลิต จึงเป็นอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้อย่างคุ้มค่า (Resources Utilization) จึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับปัจจัยการผลิตในทุกระดับชั้นของห่วงโซ่การผลิต

.

นอกจากนั้นแล้ว อุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะเป็นอุตสาหกรรมที่ประกอบไปด้วยหน่วยธุรกิจและหน่วยงานจากหลายสาขา และเพื่อจะทำให้หน่วยงานที่หลากหลายเหล่านั้นประสานงานและดำเนินการเพื่อเป้าประสงค์เดียวกันซึ่งก็คือการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของประเทศโดยรวมนั้น จำเป็นต้องพึ่งพานโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนเพื่อผลักดันให้การพัฒนามีความสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

.

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ประสบผลสำเร็จก็จะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศลดลงและท้ายที่สุดคือการเพิ่มขึ้นของมาตรฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ

.
น.ส.ฐิติพร กังสัมฤทธิ์
(
titiporn@oie.go.th)
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
ส่วน อก.2 ส.ร. 1 สศอ.
.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม