เนื้อหาวันที่ : 2010-10-04 16:43:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 656 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 4 ต.ค. 2553

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อก.ย.เพิ่ม 3% คาดตลอดทั้งปีไม่เกิน 3.0 – 3.5 %

- ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. 53 เท่ากับ 108.49 คิดเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.0 ซึ่งต่ำกว่าเดือน ส.ค. 53 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.

.

สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าช่วงปลายปีเงินเฟ้อจะลดลง และปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น สำหรับภาวะเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-3.5

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. 53 ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปีนั้นลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากฐานการคำนวณในช่วงเดียวกันปีก่อนที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ย. 53 มีราคาสินค้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.7 ต่อปี จากภาวะน้ำท่วม รวมถึงข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง จากผลผลิตข้าวสารเหนียวที่ลดลง

.

ขณะที่ราคาไฟฟ้าและน้ำประปาขยายตัวในระดับเดิม เนื่องจากหมดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.2 - 3.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 53) 

.

2.  หอการค้าไทยคาดปัญหาค่าเงินบาทกระทบการส่งออก

- รองเลขาธิการหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ปัญหาค่าเงินบาทจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 53 โดยขณะนี้ค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 30 บาทเศษแล้ว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้การแข่งขันของผู้ส่งออกไทยยากลำบากขึ้น ซึ่งทำให้การกำหนดราคาสินค้ายากขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและฐานการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายปี 2552 ที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้การส่งออกไตรมาสสุดท้ายปีนี้ไม่สูงมากและอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 20 

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 53 คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ยปี 52 ที่ 34.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 31.7 ดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 31.2 – 32.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2553 คาดว่าจะยังคงเกินดุลต่อเนื่อง จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะยังคงขยายตัวได้ดี จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กลับสู่ภาวะปกติ และ

.

2) แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรปยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะและสหรัฐฯ ยังคงมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง ทั้งนี้ ค่าเงินเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ม.ค. - ก.ย. 53) อยู่ที่ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

.

3. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่

- ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าในปีนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียจะขยายตัวร้อยละ 38 ฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 34  และประเทศไทยจะขยายตัวร้อยละ 33  

.

ในขณะที่จีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11 ทั้งนี้นักลงทุนบางส่วนยังคงเลือกลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิดวิกฤติขึ้นอีก

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยในกลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญีปุ่น จะยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง แต่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

.

ส่งผลให้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย. 53 สศค. ได้ปรับเพิ่มสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ 14 ประเทศจากร้อยละ 4.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.3 ต่อปี ซึ่งส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก .ย. 53) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 53)

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง