1. นักลงทุนจ่อย้ายฐานจากจีนมาไทย |
- รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 54 (เดือน ต.ค. 2553 - ก.ย. 2554) จะขายพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่ เนื่องจากปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติหลายรายในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอัญมณี เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามาอยู่ในไทย เพราะค่าจ้างแรงงานในจีนบางพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองกวางตุ้งปรับเพิ่มกว่า 100% รวมทั้งปัญหามาบตาพุดเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี สามารถสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนกลุ่มญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีนได้ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันการลงทุนภาคเอกชนในปี 52 มีสัดส่วนร้อยละ 14.5 ของ GDP ซึ่งมีการปรับตัวลดลงมากจากวิกฤตปี 40 ที่เคยอยู่ที่ประมาณเกือบร้อยละ 40 ของ GDP และหาก มีนักลงทุนมีการย้ายฐานเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น จะส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของภาคการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีการจ้างงาน และเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม อาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับการได้เปรียบ เสียเปรียบ เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอัญมณี เป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย |
. |
2. บาทแข็งไม่กระทบส่งออกยานยนต์ |
- ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ไม่น่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวมมากนัก โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกที่หลายฝ่ายกังวล เพราะหากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า ค่าเงินของตลาดส่งออกหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันสถาบันยานยนต์ประเมินบาทแข็งไม่กระทบในภาพรวม พร้อมชี้โอกาสดูดกลุ่มทุนญี่ปุ่นเข้าไทย |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกยานยนต์เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยในเดือนพ.ย. 52 และขยายตัวได้ในระดับสูงในปี 53 นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ผลักดันการส่งออกไทยในปีนี้ โดยช่วง 8 เดือนแรกของปี 53 การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 72.2 ต่อปี ซึ่งตลาดหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น |
. |
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในเดือนส.ค.ที่แข็งค่าขึ้นจากเดือนก.ค.ประมาณร้อยละ 2 ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วน โดยในเดือนส.ค.ขยายตัวร้อยละ 68.3 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 62.8 ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกยานยนต์จะยังคงขยายตัวได้ดี แต่จะมีแนวโน้มชะลอลงในเดือนก.ย.เรื่อยไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากฐานในปีก่อนที่เริ่มสูงขึ้น |
. |
3. ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงในเอเชีย |
- ราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ ไม่น่าจะเป็นปัจจัยกระทบต่อการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางในภูมิภาค ทั้งนี้ ราคาข้าวโพดและราคาข้าวสาลีในตลาดโลกในเดือน ก.ค. 53 ได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45 และร้อยละ 44 จากเดือนก่อนหน้า (%mom) ตามลำดับ |
. |
อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารที่ปรับขึ้นยังไม่ได้ส่งผลที่ชัดเจนต่อระดับอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชีย โดยอัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในเดือน ส.ค. 53 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4 และร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าในปัจจุบันราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น อาจจะยังไม่ส่งผลต่อระดับอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคอย่างชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังคงมีทิศทางการขยายตัวที่ดี |
. |
ประกอบกับแนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขี้นได้ในอนาคต และอาจทำให้ประเทศในภูมิภาคต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากเงินเฟ้อ โดยล่าสุดธนาคารกลางอินเดียในประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.75 เป็นร้อยละ 6.00 |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |