เนื้อหาวันที่ : 2010-08-23 10:39:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 557 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 23 ส.ค. 2553

1. 7 เดือน ตปท. ลงทุนทะลุแสนล้านบาท

-  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยถึงจำนวนขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 53 ว่ามีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น 444 โครงการ มูลค่ารวม 1.08 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 28.0 ในของแง่ของจำนวนโครงการ และร้อยละ 46.0 ในแง่ของมูลค่า

.

โดยกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 184 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 4.33 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ สิงคโปร์ จำนวน 37 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนอยู่ที่  8,479  ล้านบาท โดยกิจการที่นักลงทุนต่างชาติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ กิจการเหมืองแร่  เซรามิก และโลหะขั้นพื้นฐาน

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 53 ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 53 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.5 ต่อปี และกำลังการใช้การผลิตภาคอุตสาหกรรม (Cap U) ที่อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 62.9 ของกำลังการผลิต

.

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 53 บ่งชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อการจ้างงานของไทยโดยเฉพาะแรงงานภาคอุตสาหกรรม

.

2. แผนข้าว 5 ปี ฟันกำไรส่งออกขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี

-  ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) อนุมัติยุทธศาสตร์ตลาดข้าวปี 54-58 กำหนดให้ไทยเป็นผู้นำคุณภาพข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของโลก เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงและผู้บริโภคมั่นใจ

.

โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าส่งออกให้ได้เฉลี่ยปีละ 4,400-4,950 ล้านเหรียญสหรัฐ และปริมาณส่งออกเฉลี่ยปีละ 8.5 ล้านตัน เพื่อสร้างกำไรส่งออกข้าวทุกชนิด (ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวนึ่งและข้าวเหนียว) โตร้อยละ 20 ต่อปี โดยเน้นกลยุทธ์หาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันยังคงรักษาตลาดเดิมไว้

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดการส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกปี 53 มูลค่าการส่งออกข้าวหดตัวที่ร้อยละ -4.0 ต่อปี ขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวหดตัวที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี) ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์จะจัดทำยุทธศาสตร์การส่งออกข้าวในระยะปานกลาง 5 ปี (ปี 2554-2558) จะส่งผลดีในด้านการวางแผนการผลิตและการตลาดของข้าวทั้งระบบ ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรผู้ปลูกข้าวซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของประเทศสามารถวางแผนการผลิต ในขณะเดียวกันผู้ส่งออกสามารถวางแผนการตลาดได้

.

3. แนะเวียดนามทวนกลยุทธ์เศรษฐกิจโต

-  นักวิเคราะห์แนะเวียดนามทบทวนกลยุทธ์เพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้เวียดนามเปลี่ยนจากประเทศฐานะยากจน เป็นหนึ่งในชาติที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วสุดของเอเชีย

.

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะทำให้เศรษฐกิจเวียดนามมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะชะงักงันทางด้านเศรษฐกิจ และเสี่ยงที่จะต้องประสบความสูญเสียให้แก่ทั้งประเทศฐานะยากจน ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานถูกกว่า และประเทศฐานะร่ำรวย ที่มีความคิดสร้างสรรค์และแรงงานที่มีคุณภาพมากกว่า

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี อันเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามมีความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี

.

ทำให้ธนาคารกลางต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งเป็นปัจจัยลบในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้เวียดนามต้องลดค่าเงินลงร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นการลดค่าเงินเป็นครั้งที่ 2 เพื่อกระตุ้นการส่งออก ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปี 53 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 53)

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง