รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 117.8 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.9 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 32.0 พันล้านบาทหรือร้อยละ 37.3 สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร |
. |
โดยภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 14.6 แต่หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว |
. |
สะท้อนการฟื้นตัวที่ยังเปราะบางของการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่ภาษีฐานรายได้ (ผลรวมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ขยายตัวที่ร้อยละ 21.2 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนรายได้ประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น |
. |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 21.1 ต่อปี (หรือหดตัวที่ร้อยละ -3.7 ต่อเดือน เมื่อหักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) เนื่องจากปัจจัยฐานเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปีที่แล้ว |
. |
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว พบว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่จัดเก็บบนการบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดี โดยได้รับปัจจัยจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น |
. |
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือน มิ.ย. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี และจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตุกรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า |
. |
อีกทั้งอัตราการขายที่อยู่อาศัยใหม่ในเดือน มิ.ย. 53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 ต่อปีจากร้อยละ 23.3 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีความต้องการที่แท้จริง (Real Demand) จากผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น |
. |
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 1.67 แสนคัน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และยอดการจดทะเบียนที่สูงมากในเดือนก่อน เนื่องจากมียอดค้างจดทะเบียนในเดือนพ.ค. 53 |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าปริมาณการจำหน่ายรถจักยานยนต์ในเดือน ก.ค. 53 ยังขยายตัวได้ดี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) รายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพาราและมันสำปะหลังที่ขยายตัวในอัตราเร่ง และ 2) สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประชาชนดีขึ้น และเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น |
. |
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 71.4 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ระดับ 69.1 บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจาก 1) ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากภาคการส่งออกยังขยายตัว |
. |
อีกทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกที่ร้อยละ 14.2 ต่อปี ในเดือน ก.ค. 53 หลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเมือง 2) สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น และ 3) แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |