เนื้อหาวันที่ : 2010-08-20 09:33:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 561 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 19 ส.ค. 2553

1. รัฐเร่งดันกฎหมายทรัพย์สินหนุนรายได้ท้องถิ่น

- นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ากระบวนการกระจายอำนาจ อปท. มีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างชัดเจน วัดจากสัดส่วนรายจ่ายของ อปท. ต่อรายจ่ายส่วนรวมของภาครัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า หรือร้อยละ 4.3 ของจีดีพีซึ่งค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ซึ่งท้องถิ่นมักมีปัญหาเรื่องรายได้ที่ปัจจุบันพึ่งพิงเรื่องของเงินโอน เงินอุดหนุน แทนที่จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ด้วยตัวเอง ทำให้รัฐพยายามผลักดันกฎหมายเรื่องของภาษีทรัพย์สิน-ที่ดิน เพื่อหนุนรายได้แทนเงินจากส่วนกลาง

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศซึ่งในปัจจุบันการประเมินภาษีโรงเรือนมีความซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน และอัตราภาษีกำหนดไว้สูงมากที่ร้อยละ 12.5 ของค่ารายปีซึ่งผู้ประกอบการจะผลักภาระไปในราคาสินค้าและบริการ

.

ทั้งนี้ การนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้จะช่วยให้ระบบการถือครองทรัพย์สินดีขึ้น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ฐานภาษีกว้างขึ้นและระบบภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น ตลอดจนทำให้ อปท. มีรายได้มากขึ้นช่วยลดการพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลาง และรัฐสามารถนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาด้านอื่นได้มากขึ้น

.

2. ธปท. ระบุเงินบาทแข็งค่าไม่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย

- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย โดยเมื่อพิจารณาค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน  เงินบาทแข็งค่าขึ้นราวร้อยละ 5  ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่าอยู่ในระดับปานกลาง และไม่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน  นอกจากนี้ ธปท. ได้แนะนำให้ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ควรทำ hedging  เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดย ณ วันที่ 18 ส.ค.53 อยู่ที่ระดับ 31.65 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 26 เดือน  โดยเป็นผลมาจากเงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ และยุโรป ที่ยังคงมีภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวจริง

.

ประกอบกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป  รวมถึงประเทศไทยที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาอย่างต่อเนื่อง  โดย 6 เดือนแรกปี 53 เกินดุลอยู่ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  อย่างไรก็ตาม ดัชนีค่าเงินบาท (NEER)  ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.9  ต่อปี  ซึ่งสะท้อนถึงค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

.

3. เวียดนามประกาศลดค่าเงินดอง

- ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินดองลงร้อยละ 2.1 ในวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าที่ขยายตัวสูง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 การขาดดุลการค้าของเวียดนามขยายตัวมากกว่า  3  เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ธนาคารกลางเวียดนามได้ประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนใหม่อยู่ที่ระดับ 18,932  ดอง/ดอลล่าร์สหรัฐ เทียบกับ 18,544  ดอง/ดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมา

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การลดค่าเงินดองในครั้งนี้นับเป็นการปรับลดค่าเงินดองเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ต้นปี 52 เป็นต้นมา ทำให้ค่าเงินดองอ่อนค่าลงรวมทั้งหมดกว่าร้อยละ 11.1 เทียบกับในช่วงปี 52 เนื่องจากประเทศเวียดนามประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงโดยในปี 52 ขาดดุลการค้ากว่า 12.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

.

ค่าเงินดองที่อ่อนลงส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของไทยเนื่องจากขณะที่เงินดองอ่อนค่า ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 10.9 นับตั้งแต่เริ่มมีการลดค่าเงินดองครั้งแรก ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือสินค้าส่งออกของไทยที่เสียเปรียบด้านราคากับเวียดนามโดยเฉพาะสินค้าข้าว และคอมพิวเตอร์