เนื้อหาวันที่ : 2010-08-18 12:12:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2463 views

iTAP เพิ่มประสิทธิภาพโรงสีสหกรณ์ลดการสุญเสีย เพิ่มทักษะพนักงาน

iTAP ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านโรงสี ม.ขอนแก่น เพิ่มประสิทธิภาพโรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรกระสังลดปัญหาการสูญเสีย พร้อมเพิ่มทักษะแก่พนักงาน

.

iTAP ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านโรงสี ม.ขอนแก่น เพิ่มประสิทธิภาพโรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรกระสังลดปัญหาการสูญเสีย พร้อมเพิ่มทักษะแก่พนักงาน

.

สหกรณ์การเกษตรกระสัง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2513 ตั้งอยู่เลขที่ 107 หมู่ 21 ถนนกระสัง-พลับพลาชัย ต.กระสัง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ มีนายวิระ เกรัมย์ เป็นประธาน และนายวิทูล ธรรมเดชากุล เป็นผู้จัดการ

.

สหกรณ์การเกษตรกระสัง จำกัด เป็นสหกรณ์ระดับอำเภอมีเขตรับผิดชอบ 11 ตำบล ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 3,500 คน ดำเนินการจำหน่ายข้าวพันธุ์ ข้าวสาร (ข้าวหอมมะลิ) รำ แกลบ ปลายข้าว รวมถึงบริการปั๊มน้ำมันของ ปตท. มีโรงงานปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานมีฉางข้าวขนาด 500 ตัน 3 หลัง มีไซโลบรรจุข้าวเปลือกจำนวน 500 ตัน และมีโรงสีข้าวขนาด 24 ตันข้าวเปลือกต่อวัน 

.

นายวิทูล ธรรมเดชากุล ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรกระสัง จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ ได้จัดตั้งโรงสีข้าวขึ้นเมื่อปี 2542 มีกำลังการผลิต 24 ตันข้าวเปลือกต่อวัน เป็นการสีข้าวหอมมะลิเพียงอย่างเดียว โดยแปรรูปเป็นข้าว 100% ชั้น 2 เพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ ภูรุ้ง” และ “ตรารวงข้าวเกลียวเชือก” ( ตราเกลียวเชือก เป็นตราสัญลักษณ์ของสหกรณ์การเกษตร )

.

.

ที่ผ่านมาการผลิตข้าวของโรงสีประสบปัญหาการสีข้าวแต่ละขั้นตอน อาทิ เครื่องแยกแกลบ จะมีข้าวเปลือกและข้าวกล้องปนออกมากับแกลบเป็นจำนวนมาก ในส่วนของตะแกรงโยกแยกข้าวกล้อง มีข้าวกล้องกลับหลังมากกว่ามาตรฐาน          

.

นอกจากนี้ในกระบวนการกะเทาะและกระบวนการขัดขาวข้าวมีอัตราการแตกหักสูง การใช้ลูกยางในการกะเทาะข้าวเปลือกไม่เหมาะสมสำหรับกำลังการผลิตที่ 80 ตันข้าวเปลือกต่อคู่ และกำลังการผลิตต่ำ ที่สำคัญบุคลากรสีข้าวไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิต ทำให้เกิดความสูญเสียและประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 

.

นายวิทูล กล่าวว่า ปัญหาในกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้น เนื่องจากพนักงานของโรงสีไม่ได้มีความรู้หรือรับการถ่ายทอดการสีข้าวเหมือนโรงสีเอกชนทั่วไป เพราะสาเหตุที่จัดตั้งโรงสีนี้ขึ้น ก็เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกของสหกรณ์ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในการทำนา นำมาแปรรูปหวังเพิ่มมูลค่าผลผลิตแทนการจำหน่ายเพียงข้าวเปลือกให้กับโรงสีเอกชนเหมือนในอดีต และยังสามารถจำหน่ายผลผลิตภายใต้แบรนด์ของสหกรณ์ฯ เมื่อได้กำไรยังสามารถ

.
ปันผลและเฉลี่ยคืน ให้กับสมาชิกฯ เป็นรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

“ ต้องยอมรับว่า การสีข้าวไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมามีความพยายามหาวิธีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 20 ล้านบาทจากที่เริ่มต้นลงทุนเพียง 5 ล้านบาท แต่เพราะขาดประสบการณ์ทำให้โรงสีประสบปัญหาการสีข้าวแต่ละขั้นตอน ประกอบกับผลประกอบการในแต่ละปีที่ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดและราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อ

.

ซึ่งยังไม่รวมปัญหาตั้งแต่กระบวนการเก็บเกี่ยวที่จะส่งผลต่อคุณภาพของข้าวที่ผลิต ทำให้ผลประกอบการที่ผ่านมา บางปีก็มีกำไร บางปีก็ขาดทุน เช่นในปีที่ผ่านมาแม้จะมีผลกำไรบ้าง แต่ในปี 2553 ต้องประสบภาวะขาดทุนอันเกิดจากปัญหาทางด้านต้นทุน ที่สูงขึ้นและปัญหาขายข้าวไม่ออก ”

.

สำหรับความสนใจในการพัฒนาประสิทธิภาพโรงสีนั้น ผู้จัดการสหกรณ์ฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้เข้าร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพและการลดต้นทุนของโรงสีข้าว จากงาน iTAP อีสาน Big Impact เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ทำให้สนใจที่จะเข้ารับการช่วยเหลือ เพราะเนื้อหาที่ได้รับตรงกับโจทย์ที่สหกรณ์ฯ กำลังประสบอยู่

.

จึงเป็นที่มาของการเข้าร่วมใน “โครงการการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าว” โดยได้ iTAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ( มทส.) ประสานและจัดหาคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโรงสีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแนะนำวิธีการปรับปรุงกระบวนการสีข้าว

.

การใช้เครื่องจักรในแต่ละกระบวนการอย่างถูกต้อง และเทคนิคต่างๆ รวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณข้าวเต็มเมล็ดจากกระบวนการสีข้าว การตรวจสอบเครื่องจักร การวิเคราะห์คุณภาพข้าวในแต่ละขั้นตอนการสี ตลอดจนการเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรหรือพนักงานที่ดูแลเครื่องจักรที่มีอยู่ด้วยกัน 3 คนจนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

.

สำหรับสิ่งที่ทางคณะผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยปรับปรุงก็คือ การเพิ่มสัดส่วน “ข้าวเต็มเมล็ดหรือข้าวต้น”ให้สูงขึ้น เพื่อให้มีสัดส่วนของข้าวที่มีราคาเพิ่มขึ้น จากเดิมที่สหกรณ์ฯ ผลิตอยู่พบว่า ที่ผ่านมาสามารถแปรรูปข้าวออกมาได้ข้าวต้นเพียง 30% แต่หลังจากที่ได้รับการปรับปรุงกระบวนการผลิตแล้ว ได้ผลผลิตข้าวต้นเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

.

.

นายกริชสุบรรณ กมโลบล หนึ่งในทีมที่ปรึกษาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 3% นั้น อาจดูว่าเล็กน้อยแต่หากมองดูผลผลิตที่ได้เมื่อเทียบกับระยะเวลาการผลิตที่ 8 ช.ม./วัน ( เป็นการสีข้าวในช่วงกลางวัน และใช้ระบบไฟฟ้าแบบปกติ ) จะเห็นว่าหากวัดเป็นน้ำหนักข้าวแล้วถือว่า ได้ผลผลิตข้าวต้นเพิ่มขึ้นหลายร้อยกิโลกรัมเลยทีเดียว”

.

นอกจากนี้ ปัญหาการสีข้าวยังขึ้นอยู่กับข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนั้น ๆ ว่า มีเปอร์เซ็นต์ข้าวหักมากหรือน้อย เริ่มตั้งแต่การเก็บเกี่ยวข้าวจากแปลงนาด้วย ทั้งสิ่งปลอมปนอื่นๆ ซึ่งต้องดูตั้งแต่กระบวนการเก็บเกี่ยว การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้เมล็ดข้าวที่ติดมากับรถเมื่อมีการลงแปลงใหม่เมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวก่อนหน้าจะติดบริเวณใต้รถเกี่ยวข้าว

.

ซึ่งปกติจะมีข้าวที่ตกค้างอยู่ปริมาณมากกว่า 50-70 กิโลกรัม หากไม่มีการดูแลทำความสะอาดรถเกี่ยว จะทำให้ข้าวจากนาแปลงหนึ่งไปปนกับข้าวชุดใหม่เกิดปัญหาข้าวปน ปัญหานี้จะไปส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตข้าวของนาแปลงใหม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่สหกรณ์หรือโรงสีจำเป็นต้องรู้ด้วย

.

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวอีกว่า การเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน เนื่องจากวิธีการสีข้าวของสหกรณ์ฯ ไม่ถนัดมากพอเหมือนกับโรงสีข้าวเอกชน โดยเฉพาะเรื่องของเทคนิคการสีข้าว ทางคณะผู้เชี่ยวชาญจึงได้ถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่กระบวนการทำความสะอาด (เพื่อรักษามาตรฐาน GMP), เครื่องกะเทาะข้าวเปลือก , ความเร็วรอบและลูกยางที่ใช้ ไปจนถึงเรื่องของตะแกรงโยก การแยกข้าวกล้องกับข้าวเปลือกออกจากกัน , เรื่องของกระบวนการขัดขาว ความหยาบและความละเอียดของหินขัด ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีรายละเอียดในเชิงเทคนิคที่ต่างกัน

.

.

“เพราะในกระบวนการสีข้าวมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การทำความสะอาด กะเทาะข้าวเปลือก และคัดขนาดเพื่อนำไปขาย ซึ่งในทุกกระบวนการสามารถนำเทคโนโลยีง่ายๆ หรือดัดแปลงกระบวนการเพียงเล็กน้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ทางคณะผู้เชี่ยวชาญฯ จึงใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการแตกหักทำให้ได้เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นมากขึ้น”

.

ผลที่ได้นอกจากทักษะที่เพิ่มขึ้นของพนักงานในการสีข้าวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ปัจจุบันสหกรณ์ฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสีข้าวจาก 38.2% ขึ้นเป็น 40.6% ของข้าวเปลือก , ลดการสูญเสียระหว่างการสีข้าวแต่ละขั้นตอน เช่น สิ่งปนเปื้อนลดลงจาก 10% เหลือ 2% , การแยกข้าวกล้องออกจากข้าวเปลือกได้เพิ่มขึ้นในขั้นแยกหินจาก 12% ลดลงเหลือ 2% ,

.

อัตราการแตกหักในกระบวนการขัดขาวลดลงจาก 32.6% เหลือ 29.3% , เพิ่มอายุการใช้ลูกยางในเครื่องกะเทาะข้าวเปลือกจาก 80 ตันต่อคู่ เป็น 90 ตันต่อคู่ และมีกำไรเพิ่มขึ้น 10,800 บาทต่อวัน หรือประมาณ 3.9 ล้านบาทต่อปี (คิดเฉลี่ยจากระยะเวลาการสีข้าว 4 เดือน )

.

นายวิทูล กล่าวว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าวของสหกรณ์ฯ ครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของต้นทุนการผลิต และทำให้ผลผลิตข้าวที่ออกมามีคุณภาพได้มาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในระยะยาวต่อไป ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีกลุ่มลูกค้าประจำ อาทิ สหกรณ์ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี , ตราด , กรุงเทพฯ และชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทยที่มีตัวแทนอยู่ทั่วประเทศ