1. บีโอไอยืนยัน ข้อตกลงการลงทุนอาเซียนยังคุ้มครองเกษตร-เอสเอ็มอี-รัฐวิสาหกิจ |
- รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA (ASEAN Comprehensive Investment Agreement) ในอาเซียนไม่ใช่การเปิดให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาลงทุนได้โดยเสรี แต่ยังมีเงื่อนไขและกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม โดยข้อตกลงดังกล่าวยังคุ้มครองกิจการคนไทย โดยไม่มีแผนให้ต่างชาติทำอาชีพเกษตร อีกทั้งจะเพิ่มข้อสงวนคุ้มครองเอสเอ็มอีและรัฐวิสาหกิจอีกด้วย |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การคุ้มครองกิจการของคนไทยภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน โดยเฉพาะภาคเกษตรและประมงนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบัน ภาคการเกษตรเป็นภาคที่ดูดซับแรงงานส่วนเกินในตลาด โดยจะเห็นได้จากวิกฤตที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมมีการลดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก |
. |
แต่อัตราว่างงานไทยที่ระดับสูงสุดกลับมีระดับต่ำเพียงร้อยละ 2.4 ของกำลังแรงงานรวมเมื่อเดือน ม.ค. 52 ซึ่งจัดว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่ประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน เนื่องจากแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมได้เคลื่อนย้ายกลับเข้าไปสู่ภาคเกษตร โดยปัจจุบันมีแรงงานในภาคเกษตรถึง 14 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.5 ของแรงงานรวม |
. |
2. AREA เผยผลสำรวจพบบ้านค้างสต็อกกว่า 1.1 แสนหน่วย |
- ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เผยว่า ขณะนี้มีบ้านและห้องชุดในโครงการจัดสรรภาคเอกชนทั้งหมดที่ยังรอคนซื้ออยู่จำนวน 110,666 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกลุ่มที่มีเหลือมากที่สุดคือ ทาวน์เฮาส์ราคาประมาณ 1 - 2 ล้านบาท ซึ่งมีถึง 18,886 หน่วย รองลงมาคือบ้านเดี่ยวราคา 3 - 5 ล้านบาทจำนวน 13,798 หน่วย และทาวน์เฮาส์ราคาไม่เกินล้านอีก 10,563 หน่วย |
. |
อย่างไรก็ตาม ยอดตัวเลขบ้านรอขายดังกล่าวที่มีเหลือจำนวนนับแสนไม่น่าวิตกมากนัก และถือว่าเป็นเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น จากจำนวนบ้านที่สร้างเสร็จแล้วทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีอยู่ 4.3 ล้านหน่วย |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าจำนวนบ้านที่รอการขายจะค้างสต็อก แต่พบว่ายังคงมีทิศทางที่ดีอยู่ สะท้อนจากยอดรายได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีแรกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 77.9 ต่อปี รวมถึงยอดขายปูนซีเมนต์ครึ่งปีแรกที่ขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและเศรษฐกิจภายในประเทศที่อาจชะลอตัวบ้างในช่วงปลายปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าคงทน |
. |
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสที่ 2 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี (%qoq annualized) |
- เลขาธิการสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เมื่อพิจารณาจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ต่อปี (%qoq annualized) ด้านนายซาโตชิ เอราอิ รมว.เศรษฐกิจและนโยบายการคลังกล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง อันเนื่องมาจากผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงภาวะซบเซาของเศรษฐกิจและตลาดการเงินของสหรัฐและยุโรป |
. |
พร้อมทั้งกล่าวว่า รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง และนายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินเยนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเงินเยนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ของปีขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq_sa) ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศที่หดตัวลงจากการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจแทรกแซงค่าเงินเยนไม่ให้แข็งค่าขึ้น เพื่อสนับสนุนการส่งออก และอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มเติม |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |