บีโอไอย้ำ คุ้มครองกิจการคนไทย - รอผ่านความเห็นชอบรัฐสภา ยังไม่มีการผูกพันความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน
บีโอไอย้ำ คุ้มครองกิจการคนไทย - รอผ่านความเห็นชอบรัฐสภา ยังไม่มีการผูกพันความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน |
. |
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย |
.. |
บีโอไอเผยประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA โดยต้องรอเสนอรายการข้อสงวน และจะมีการเพิ่มมาตรการคุ้มครองกิจการเอสเอ็มอีไทยด้วย ให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน พร้อมย้ำ คณะผู้จัดทำรายการข้อสงวนฝ่ายไทยเพิ่มมาตรการเพื่อคุ้มครองการลงทุนมากขึ้นกว่าที่ไทยเคยตกลงไว้ในอดีต โดยสาขาที่สงวนไว้ยังคงยึดตามพรบ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว |
.. |
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดทำรายการข้อสงวนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) ซึ่งบีโอไอในฐานะหน่วยงานที่เป็นตัวกลางในการประสานและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ผ่านมา บีโอไอยังไม่สามารถแจ้งต่อที่ประชุมของชาติสมาชิกอาเซียนได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากรายการข้อสงวนของไทยยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา |
.. |
ดังนั้น ขณะนี้ ประเทศไทย ยังไม่มีการยื่นตารางข้อสงวนให้แก่อาเซียนแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่ต้องการให้ชะลอการจัดทำข้อสงวน เพื่อให้มีการพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น |
.. |
ทั้งนี้ ในการจัดทำรายการข้อสงวนของประเทศไทย ได้มีการเพิ่มมาตรการเพื่อคุ้มครองการลงทุนมากขึ้นกว่าที่ประเทศไทยเคยตกลงไว้ในอดีต โดยได้นำกิจการในบัญชีแนบท้าย พรบ.ประกอบธุรกิจคน ต่างด้าว พ.ศ. 2542 ทั้งประเภทบัญชี 1, 2 และ 3 มาบรรจุไว้ในสาขาที่ไทยต้องการสงวนด้วย นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มมาตรการคุ้มครองกิจการเอสเอ็มอีของคนไทย และรัฐวิสาหกิจของไทยด้วย ดังนั้น ข้อเสนอรายการข้อสงวนในครั้งนี้ จึงเป็นการเพิ่มมาตรการคุ้มครองมากกว่าเดิม |
.. |
ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน มิใช่การเปิดให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาลงทุนได้โดยเสรี แต่ยังมีเงื่อนไขและกฎหมายอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากชาติสมาชิกตระหนักดีถึงความแตกต่างในระดับการพัฒนาของแต่ละชาติ จึงให้ความยืดหยุ่นโดยอนุญาตให้แต่ละชาติกำหนดเงื่อนไขไว้ในรายการข้อสงวนได้ |
.. |
และนักลงทุนอาเซียนยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้กฎหมายฉบับอื่นอีก เช่น พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งต่างชาติจะไม่สามารถเข้ามาลงทุนทำนา ทำไร่ทำสวน พรบ.ที่ดิน ซึ่งไม่อนุญาตให้คนต่างชาติและบริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดิน |
.. |
พรบ.ป่าสงวน พ.ศ.2507 ซึ่งต่างชาติไม่สามารถเข้าไปลงทุนในพื้นที่ป่าสงวน และพรบ.สวนป่า พ.ศ.2535 ระบุว่าผู้ที่จะเข้าไปลงทุนทำสวนป่าในพื้นที่เอกชนต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รวมทั้ง พรบ.ประมง พ.ศ.2490 ที่ระบุว่า ผู้ที่จะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่สาธารณะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น เป็นต้น |
.. |
นางสาวอัจฉรินทร์กล่าวด้วยว่า บีโอไอขอยืนยันว่า จะไม่มีการเปิดเสรีการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ การทำป่าไม้จากป่าธรรมชาติ การทำประมงหรือจับสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำไทย โดยอาชีพเหล่านี้ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศ ที่กำหนดให้คนต่างชาติถือหุ้นได้ข้างน้อยเท่านั้นจึงจะทำได้ จะไม่มีการเปิดให้ต่างชาติข้างมากเข้ามาประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยอย่างแน่นอน |