เนื้อหาวันที่ : 2010-08-16 09:39:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5825 views

พลานุภาพทางเศรษฐกิจของ Internet Economy (ตอนที่ 1)

ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ ว่า "คอมพิวเตอร์" และ "อินเตอร์เน็ต" ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั่วโลกไปแล้ว ทั้งสองสิ่งนี้สามารถประมวลความคิดความอ่านของมนุษยชาติตลอดจนเชื่อมโยงให้ผู้คนหลายพันล้านคนเข้าหากันด้วยพลังที่เรียกว่า "การสื่อสารไร้พรมแดน"

The 21st Century Economy
พลานุภาพทางเศรษฐกิจของ Internet Economy (ตอนที่ 1)

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับว่า "คอมพิวเตอร์" และ "อินเตอร์เน็ต" ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั่วโลกไปแล้ว ทั้งสองสิ่งนี้สามารถประมวลความคิดความอ่านของมนุษยชาติตลอดจนเชื่อมโยงให้ผู้คนหลายพันล้านคนเข้าหากันด้วยพลังที่เรียกว่า “การสื่อสารไร้พรมแดน”

.

อย่างที่ผู้เขียนเน้นไปหลายครั้งแล้วนะครับว่านับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90 เจ้าคำว่า Globalization หรือ โลกาภิวัฒน์ นั้น ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตคนเราอย่างมาก โลกาภิวัฒน์ ได้รับแรงสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เองครับ

.

จะว่าไปแล้วรูปแบบการสื่อสารของมนุษย์เรา หลัก ๆ แล้วมีอยู่สองลักษณะนะครับ โดยลักษณะแรกเป็นการสื่อสารที่ตัวผู้ส่งสารเดินทางไปหาผู้รับสารเลย การสื่อสารแบบนี้เรียกว่า “คมนาคม” นั่นเองครับ การคมนาคมทำให้มนุษย์รู้จักนำสัตว์มาเป็นพาหนะอย่างช้าง ม้า วัว ควาย และเริ่มประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไกเพื่อผ่อนแรงสัตว์เหล่านั้นตั้งแต่ ล้อ เทียมเกวียน เรือไปก่อนจะพัฒนามาสร้างรถยนต์ รถไฟ จนก้าวมาถึงยุคเครื่องบินและยานอวกาศในที่สุด

.

ส่วนการสื่อสารอีกประเภทนั้นเป็นการสื่อสารที่ตัวผู้ส่งสารไม่ได้เดินทางไปหาผู้รับสาร หากแต่หาเครื่องมือมาทำการสื่อสารส่งต่อไป เริ่มตั้งแต่ คนเดินสาสน์ นกพิราบนำสาสน์ มาจนถึงการพัฒนาโทรศัพท์ ประดิษฐ์โทรเลข สร้างวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และก้าวสู่ยุคการสื่อสารไร้สายที่ทำให้โลกใบนี้สามารถเชื่อมโยงติดต่อกันได้ตลอดเวลา

.

กระแสของโลกาภิวัฒน์เดินไปพร้อม ๆ กับ การพัฒนารูปแบบของการสื่อสารทั้งนี้เพื่อตอบสนองสิ่งที่เรียกว่า “ความเร็ว” และหากจะมองแบบนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ความเร็วนับเป็นปัจจัยหนึ่งในการก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตครับ

.

ที่ผู้เขียนเกริ่นมาเสียยืดยาวเพียงเพื่อต้องการให้ท่านผู้อ่านลองจินตนาการภาพตามว่า ถ้ามนุษย์เราไม่มีการพัฒนารูปแบบการสื่อสารขึ้นมาเลย สภาพโลกของเราทุกวันนี้มันจะเป็นยังไงเหรอครับ บางทีเราอาจจะยังคงเป็นมนุษย์ถ้ำ ที่ยังแก้ผ้าล่าสัตว์กันอยู่ก็เป็นได้นะครับ ด้วยเหตุนี้เองการสื่อสารจึงนำมาซึ่งความศิวิไลซ์และอารยธรรมมนุษย์ ครับ

.

สำหรับซีรีส์ The 21st Century Economy ในตอนนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเล่าถึงพลานุภาพของ Internet Economy ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว เติบโตและสร้างไทคูนรุ่นใหม่ขึ้นมาลูกแล้วลูกเล่า ซึ่งหากจะว่าไปแล้วเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ นอกจากจะดำรงอยู่บนฐานของภาคการผลิตแล้ว ภาคบริการที่มี Internet Economy เป็นตัวเชื่อมโยงนั้นก็นับได้ว่าเป็นอีก “ขาหนึ่ง” ที่ค้ำจุนเศรษฐกิจโลกเหมือนกันนะครับ

.
Internet Economy: กระบวนการนวัตกรรมใหม่ในศตวรรษที่ 21 

ราว ๆ ต้นศตวรรษที่ 20 มีศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียนนามว่า โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) ได้กล่าวถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในยุคนั้นไว้ว่า การที่เศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกาสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วจนส่งให้ทั้งสองแผ่นดินนี้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกได้นั้น    

.

ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ โดยชุมปีเตอร์ยกตัวอย่างการขยายทางรถไฟของสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 มีผลทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการเจริญเติบโตของเมืองไปพร้อม ๆ กัน

.

ชุมปีเตอร์อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่าเมื่อประดิษฐกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมานี้เริ่มเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้คนแล้ว มันจะส่งผลให้กลไกตลาดเริ่มทำงานและจัดสรรทรัพยากรในรูปแบบใหม่ผ่านการกำหนดราคาตลาดและเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของผู้คนทั้งโลกในที่สุดครับ

.

ชุมปีเตอร์เรียกนวัตกรรมใหม่นี้ว่าเป็น Destructive Creation ซึ่งฟังดูแล้วมันอาจจะขัด ๆ กันนะครับเพียงแต่ว่าเมื่อสิ่งใหม่เข้ามา (Creation) มันก็จะไปทำลาย (Destructive) สิ่งเก่า พูดให้ง่ายกว่านี้ คือ ความนิยมในสิ่งเก่าก็จะถูกแทนที่ด้วยของใหม่ 

.

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโทรศัพท์มือถือรวมไปถึงอีเมล์เข้ามาในช่วงยี่สิบปีหลังนี้ “โทรเลข” ก็ค่อย ๆ หมดบทบาทลงไปเนื่องจากนวัตกรรมใหม่ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมานี้ได้เข้าไปแทนที่และทำลายนวัตกรรมเดิมเรียบร้อยแล้ว

.

โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter)
หนึ่งในปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์เจ้าของแนวคิดเรื่อง Destructive creation

.

และด้วยแนวคิดของศาสตราจารย์ชุมปีเตอร์นี้เองครับที่ทำให้เราสามารถอธิบายพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกเมื่อศตวรรษที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษนี้ได้

.

กระบวนการโลกาภิวัฒน์นั้นก่อตัวมาอย่างช้า ๆ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง แม้ว่าโลกจะเดินเข้าสู่ยุคสงครามเย็นร่วมสี่สิบปี แต่ไอ้เจ้ายุคสงครามเย็นนี้เองแหละครับที่ทำให้เกิดการแข่งขันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

.

แรกเริ่มเดิมทีฝั่งสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์ ก่อนจะมาสร้าง “สงครามสำรวจอวกาศ” ด้วยการส่งยานอวกาศออกไปนอกโลก โซเวียตส่งสปุตนิกออกไปโคจรรอบโลกก่อน หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาประกาศกร้าวด้วยการส่งอพอลโล่ 11 ไปถึงดวงจันทร์

.

ยิ่งเกิดการแข่งขันมากขึ้นเท่าไร เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ได้รับการพัฒนาและถ่ายทอดไปมาหาสู่กันมากขึ้นเท่านั้นครับ สหรัฐอเมริกามีสุดยอดองค์กรทางวิทยาศาสตร์อย่าง NASA (National Aeronautics and Space Administration) ส่วนโซเวียตนั้นมี Soviet Space Program ที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับนาซ่า ทั้งสององค์กรนี้เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ มากมาย ที่มีส่วนสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา

.

ด้วยเหตุนี้เองการเติบโตของเทคโนโลยีอันสืบเนื่องมาจากการแข่งขันกันทางสงครามรูปแบบใหม่จึงทำให้เกิดพัฒนาการของเทคโนโลยีแขนงอื่น ๆ ตามไปด้วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่แต่เดิมใช้สำหรับราชการทหารเท่านั้น

.

เครื่องคอมพิวเตอร์ ENIAC (Electronic Numerical Integrator and Computer)
ที่ในอดีตเคยใช้ในราชการสงครามของกองทัพอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองรวมไปถึงช่วงต้น ๆ  สงครามเย็น

.

แม้ว่าแนวคิดเรื่อง Destructive Creation ของชุมปีเตอร์จะอธิบายการเข้ามาแทนที่ของนวัตกรรมใหม่ แต่อย่างไรก็ตามการแทนที่ดังกล่าวจะต้องได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วไปด้วยนะครับ ถึงจะทำให้ประดิษฐกรรมนั้น ๆ กลายเป็นแรงขับเคลื่อน (Driving Forces) อย่างแท้จริงในระบบเศรษฐกิจ

.

กรณีของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นั้นนับว่ายังห่างไกลจากแนวคิดของชุมปีเตอร์อยู่ทีเดียว เพราะวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวก็เพื่อรองรับราชการทหารในช่วงสงครามเป็นสำคัญครับ

.

อย่างไรก็ตามในทศวรรษที่ 70 เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เริ่มกระจายเข้าสู่ภาคครัวเรือนชนิดที่เรียกว่า “กล้า ๆ กลัว ๆ” ก่อนโดยผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยังไม่มั่นใจว่า “ตลาด” จะตอบสนองนวัตกรรมใหม่ตัวนี้หรือเปล่า

.

ว่ากันว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) เครื่องแรกถูกผลิตขึ้นมาโดยบริษัท Hewlett -Packard เมื่อปี 1968 โดยมีลักษณะคล้ายเครื่องคิดเลขตั้งโต๊ะขนาดใหญ่ซึ่ง Hewlett-Packard เรียกมันว่า Hewlett-Packard 9100 ครับ

.

และในเวลาต่อมาบริษัท IBM ได้แนะนำคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตัวใหม่ที่ชื่อ IBM 5100 โดยเจ้าคอมพิวเตอร์ตัวนี้ใช้ได้กับภาษา APL และ BASIC ซึ่งมีน้อยคนนักที่จะสนใจเรื่องพวกนี้ ด้วยเหตุนี้เองคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุคบุกเบิกเริ่มต้นจึงใช้ไปในวัตถุประสงค์ทางการศึกษาวิจัยของเหล่านักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก มากกว่า เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้ต้องเรียนรู้เพื่อจะนำข้อมูลมาประมวลผลขั้นสูงซึ่งคอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยเหลืองานดังกล่าวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการคำนวณด้วยมือตัวเอง

.

Hewlett-Packard 9100
คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนบุคคลตัวแรกของโลก
ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัท Hewlett Packard เน้นไปในเรื่องการคิดเลขเป็นหลัก

.

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างแท้จริง (Personal Computer Industry) โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีบริษัทที่กระโจนเข้าสู่ตลาดนี้หลายราย เช่น Kenbak Corporation ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รุ่น Kenbak-1, Computer Terminal Corporation (CTC) ผู้สร้าง Datapoint 2200, Xerox Alto ผู้พัฒนา Xerox PARC แต่ที่เห็นจะโด่งดังมากที่สุดในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเห็นจะหนีไม่พ้นบริษัท IBM ซึ่งมีชื่อเต็ม ๆ ว่า International Business Machines

.

IBM 5100
คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนบุคคลของ IBM ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1975
ว่ากันว่าคอมพิวเตอร์ตัวนี้มีน้ำหนักถึง 24 กิโลกรัมเลยทีเดียว

.

บริษัท IBM ได้เข้าสู่วงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างจริงจังราว ๆ ทศวรรษที่ 70 ครับ โดยระดมวิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ที่มากฝีมือมาช่วยกันพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้สามารถรองรับการใช้งานของผู้คนทั่วไป ซึ่งหากประสบผลสำเร็จนั่นหมายถึงจำนวนผู้บริโภคที่รออยู่มากมายมหาศาลไม่จำกัดเฉพาะรัฐบาลหรือกองทัพเพียงอย่างเดียวแล้ว

.

บริษัทไอบีเอ็ม
เจ้าของฉายา Big Blue
เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์เก่าแก่ก่อตั้งเมื่อปี 1911 ที่ Endicott, นิวยอร์ก
ปัจจุบันไอบีเอ็มแตกไลน์ไปในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ Hardware, Software
Computer System รวมไปถึงที่ปรึกษาด้าน IT ด้วย

.

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 IBM ได้ส่งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ชื่อ IBM PC ออกมาโดยเจ้าคอมพิวเตอร์รุ่นนี้เองแหละครับที่เราเริ่มคุ้นตากันหน่อยว่ามันมีลักษณะเป็น Personal Computer อย่างแท้จริง

.

IBM PC
คอมพิวเตอร์บ้านรุ่นแรกที่ IBM ปล่อยออกมาเมื่อปี 1981
ทำงานด้วยระบบ PC DOS 1.0 และมี memory 16kiB ~ 256 KiB

.

ทั้งหมดที่ผู้เขียนสาธยายมาให้ฟังนี้ เราจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนั้นมีส่วนสำคัญมากทีเดียวนะครับต่อการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกนี้

.

มองในมุมหนึ่งเทคโนโลยีได้สร้าง “โอกาส” ให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสและเดินเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องรู้จักพัฒนาเทคโนโลยีให้ล้ำหน้าไปกว่าเก่าเพื่อสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าตัวเองด้วย 

.

กรณีของคอมพิวเตอร์ก็เช่นเดียวกันครับ ใครจะไปคิดว่าจากเครื่องเทอะทะที่อยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ จะกลายมาเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ให้ผู้คนทั่วไปได้ใช้งานกันอย่างสะดวกสบายทุกวันนี้ ใครจะไปคาดคิดว่าจากภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีผู้รู้เพียงหยิบมือเดียวจะถูกออกแบบมาให้คนทั่วโลก ทุกเพศทุกวัยได้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาล

.

ซีรี่ส์นี้ในตอนหน้าเราจะมาว่ากันต่อถึงการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์จนแตกเซกเมนต์ต่าง ๆ ออกมาหลายเซกเมนต์ ทั้งนี้คงต้องขอบคุณบุรุษผู้หนึ่งที่โลกจะต้องจำชื่อเขาไว้ตลอดไป นั่นคือ วิลเลี่ยม เฮนรี่ “บิล” เกตส์ เดอะเทิร์ด (William Henry "Bill" Gates III) ครับ

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน

1. www.wikipedia.org
2. Sherman, Josepha (2003). The History of the Personal Computer.
3. McCraw, Thomas K. (2007). Prophet of Innovation: Joseph Schumpeter and Creative Destruction.