16 สมาคมเอกชน ยื่นหนังสือถึงสภาหอการค้าไทย แสดงจุดยืนหนุนเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ญี่ปุ่น กระทุ้งรัฐบาลและ สนช.รับทราบ ชี้หากไม่เดินหน้าเอฟทีเอ ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งได้
สำนักข่าวไทยรายงานข่าว16 สมาคมเอกชน รวมตัวกันทำหนังสือถึงสภาหอการค้าไทย เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้รัฐบาลและ สนช.รับทราบ โดยระบุว่า หากไม่เดินหน้าเอฟทีเอ จะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งได้ |
. |
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 16 สมาคม เช่น สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมผู้เลี้ยงปลาไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอัญมณีและเครื่องประดับไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมรองเท้า สมาคมพืชผักผลไม้ไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลทรายไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมยางพาราไทย บริษัท ส่งออกผักผลไม้สด สมาคมพ่อค้าผ้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย และสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ใยสังเคราะห์ ได้ยื่นหนังสือมายังสภาฯ เพื่อแสดงจุดยืนต่อการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ |
. |
โดยในหนังสือระบุว่า ขณะนี้หากประเทศไทยไม่มีการเซ็นตามกรอบเอฟทีเอกับญี่ปุ่นโดยเร็ว จะทำให้ไทยสูญเสียการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากขณะนี้ไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกในหลายอุตสาหกรรม ต่างได้รับผลกระทบจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน และสูญเสียการแข่งขันทางการค้ากับหลายประเทศ จึงเป็นต้องหาหนทางในรูปแบบการแข่งขันทางการค้าใหม่ ๆ ดังนั้น จึงเห็นว่าไทยมีความจำเป็นต้องเซ็นสัญญาตามกรอบเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น โดยเร็ว และขณะนี้ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างเจรจาเดินหน้าเอฟทีเอ ญี่ปุ่น-เวียดนาม ซึ่งหากไทยยังล่าช้าก็จะเสียเปรียบได้ |
. |
ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกไทยไปยังญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี หากไม่มีการลงนาม ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมไทยในหลายอุตสาหกรรม และเท่าที่รับทราบ วันพรุ่งนี้ (15 ก.พ.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะหยิบยกเรื่องกรอบเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เสนอที่ประชุม หากผ่านความเห็นชอบในขั้นตอน คงต้องใช้ระยะเวลา 60-90 วัน และหากเป็นไปได้อาจมีการลงนามเซ็นเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ภายในปีนี้ หากไม่เห็นชอบต้องมีเหตุผลชัดเจน และเชื่อว่าทางรัฐบาลก็มีการเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ที่จะชี้แจงต่อสภาฯ วันพรุ่งนี้พร้อมแล้ว แต่สิ่งที่ทางภาคเอกชนเรียกร้อง เพื่อต้องการให้ทุกอย่างชัดเจน เพราะขณะนี้ไทยสูญเสียการแข่งขันทางการค้ารูปแบบต่าง ๆ อย่างมาก |
. |
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงการทำเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญา ภาคเอกชนคิดว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะเป็นพิษ ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะภาคเอกชนได้มีการศึกษาแล้ว และขึ้นอยู่กับกลุ่มเจรจาข้อตกลงในพิกัดที่เกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม สามารถใช้มาตรการป้องกัน โดยเฉพาะผ่านกำแพงภาษีสรรพสามิตได้ จึงเชื่อว่าไม่น่าส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรวมของไทย แต่หากไทยไม่มีการลงนาม ก็จะเป็นผลกระทบวงกว้างต่อไป. |