เนื้อหาวันที่ : 2010-08-11 10:01:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2260 views

เอสซีจี เปเปอร์ ทุ่มทุน 2.2 พันล้านยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

เอสซีจี เปเปอร์ ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเทียบชั้นมาตรฐานโลก ลงทุน 2.2 พันล้านบาทเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตโรงงานฟินิคซฯ จ.ขอนแก่น

(ภาพจาก neroc.kku.ac.th)

.

เอสซีจี เปเปอร์ ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเทียบชั้นมาตรฐานโลก ลงทุน 2.2 พันล้านบาทเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตโรงงานฟินิคซฯ จ.ขอนแก่น

.

เอสซีจี เปเปอร์ ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสาธารณูปโภคจากเชื้อเพลิงชีวมวล และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเทียบชั้นมาตรฐานโลก ที่โรงงานฟินิคซฯ จ. ขอนแก่น มูลค่าการลงทุนรวม 2,200 ล้านบาท พร้อมเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรับฟังและแสดงความเห็นได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส ตามความมุ่งมั่นที่จะยกระดับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเทียบชั้นมาตรฐานโลก บนบรรทัดฐานการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

.

นายธีระศักดิ์ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ใน เอสซีจี เปเปอร์ เปิดเผยว่า เอสซีจี เปเปอร์ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระดาษ ที่ได้ยึดมั่นตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและดีที่สุด ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคม                             

.

รวมถึงการริเริ่มโครงการใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามกฎหมายและข้อตกลงต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานเบื้องต้นที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติแล้ว ยังมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานสูง มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาความเจริญด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

.

ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้พัฒนาและปรับปรุงระบบการผลิตและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานให้มีความทันสมัยและได้มาตรฐานสูงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต ที่ส่งผลให้พนักงานและชุมชนใกล้เคียงมีคุณภาพอาชีวอนามัยที่ดี ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

.

โดยได้เตรียมการเชิญประชาชน ชุมชนใกล้เคียง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(Stakeholders) เข้ามามีส่วนร่วมแสดงข้อคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลและให้คำเสนอแนะกำหนดมาตรการต่างๆ ร่วมกัน ก่อนนำไปสรุปเป็นการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอให้หน่วยงานราชการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

.

เอสซีจี เปเปอร์ ลงทุน 2 โครงการ ในบริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดขอนแก่น มูลค่าการลงทุนรวม 2,200 ล้านบาท ได้แก่
1. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสาธารณูปโภคจากเชื้อเพลิงชีวมวล
2. โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม

.
โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสาธารณูปโภคจากเชื้อเพลิงชีวมวล
1. มูลค่าลงทุน ประมาณ 1,400 ล้านบาท

2. ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ครบอายุการใช้งานภายในหน่วยผลิตไอน้ำและน้ำยาเคมีกลับคืน ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและรักษามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีมากยิ่งขึ้นทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ 2 ชุด คือ หม้อผลิตน้ำยาเคมีกลับคืน (Recovery Boiler) กำลังการผลิตไอน้ำ 108 ตัน/ชั่วโมง

.

โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมดจากวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ เป็นเทคโนโลยีจากประเทศฟินแลนด์ และกังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กำลังการผลิต 9.62 เมกกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น

.

3. ประโยชน์จากโครงการนี้ คือ
- ยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อลดกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตไอน้ำได้ยาวนานต่อเนื่อง
- ควบคุมคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกจากกระบวนการผลิตไอน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
- ลดการพึ่งพาการซื้อพลังงานจากภายนอก และลดภาระของรัฐบาลในการลงทุนกิจการสาธารณูปโภค ด้านพลังงานไฟฟ้า

.

โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม
1. มูลค่าลงทุน ประมาณ 800 ล้านบาท
2. รายละเอียดการปรับปรุงระบบการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม มีโครงงานย่อย อาทิ เช่น การเปลี่ยนเครื่องผลิตออกซิเจนใหม่ การติดตั้งระบบเพื่อลดการใช้สารเคมีในการฟอกเยื่อ การติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซที่มีกลิ่นจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ การติดตั้งเครื่องผลิตก๊าซจากเปลือกไม้เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผากากปูนขาว การติดตั้งเตาเผากากปูนขาวใหม่ เป็นต้น

.

3. ประโยชน์จากโครงการนี้ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยต่อพนักงานและชุมชนใกล้เคียงคือ
- ลดกลิ่นที่มาจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษได้ยาวนานต่อเนื่อง
- ลดกากเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ โดยไม่ต้องกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบในพื้นที่โรงงานอีกต่อไป
- เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งที่ปล่อยออกจากโรงงานให้มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรจากสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการฟอกเยื่อ 

- ยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมฝุ่นละอองได้ดีมากยิ่งขึ้น

.

บริษัทฯได้เริ่มดำเนินการขั้นตอนกระบวนการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโครงการฯ ไปยังพนักงานและครอบครัว ตลอดจนสื่อสารไปยังประชาชน และชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(Stakeholders) ทั้งหมด เพื่อมาร่วมรับฟัง กำหนดขอบเขต และแสดงความคิดเห็นต่อโครงการฯตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

.

โดยมุ่งหวังว่า โครงการทั้งสองนี้จะประสบผลสำเร็จ และเกิดคุณประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(Stakeholders) ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถอยู่ร่วมกับโรงงานของเราอย่างมีความสุข และยั่งยืนตลอดไป