ก.แรงงานเร่งถกแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขาดแคลนแรงงาน แนะเอกชนปรับคุณสมบัติ ใช้ค่าจ้าง-ค่าตอบแทน สวัสดิการ เป็นแรงจูงใจ
. |
ก.แรงงานเร่งถกแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขาดแคลนแรงงาน แนะเอกชนปรับคุณสมบัติ ใช้ค่าจ้าง-ค่าตอบแทน สวัสดิการ เป็นแรงจูงใจ |
. |
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย โดยมีกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอง ได้แก่นายพงษ์ศักดิ์ อัสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และนายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมประชุมด้วย |
. |
รองปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ทั้งนี้ข้อหารือจากการประชุมเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมและสิ่งทอ ที่กลุ่มฯ ได้ร้องขอแรงงานเพื่อป้อนสู่สายงานการผลิต โดยที่ประชุมเห็นว่าจะดำเนินการใน 2 ลักษณะคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ผู้แทนสมาคมฯ ได้ให้ข้อมูลการขาดแคลนแรงงานในภาพกว้างๆ ด้านตัวเลขรวมๆ ประมาณ 17,614 ตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานให้เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ไปพูดคุย |
. |
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น รองปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่า จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายคือตัวแทนสมาคมฯ และกระทรวงแรงงานเพื่อปรับข้อมูลให้สอดคล้องกัน (tune) ตรงกันในรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นในเรื่องคุณสมบัติแรงงานกับตำแหน่งงานที่สถานประกอบกิจการต้องการ ค่าจ้าง-ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นที่ชัดเจนและเป็นข้อจูงใจแก่แรงงานได้สมัครใจเข้าทำงาน |
. |
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพจึงไม่สามารถบังคับแรงงานได้ จึงต้องอยู่ที่ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าตัวเลข สถิติ การขาดแคลนแรงงานกว้างๆ ที่ไม่อาจใช้เป็นแรงจูงใจได้นั่นเอง |
. |
รองปลัดกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวด้วยว่า การปรับข้อมูลให้สอดคล้องกันของทุกฝ่าย นอกจากสมาคมฯ และกระทรวงแรงงานแล้ว ทางกรมการจัดหางานจะต้องบูรณาการประสานงานในระดับพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในภูมิภาค ที่มีสถานประกอบกิจการที่ขาดแคลนแรงงานตั้งอยู่ เพื่อจัดการกับข้อมูลเชิงลึกให้ละเอียดลออในแต่ละสายงานการผลิต เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ |
. |
โดยระดับภูมิภาคเหล่านี้สามารถบริหารจัดการบูรณาการข้อมูลและการตอบสนองการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านส่วนกลาง เนื่องจากเป็นผู้อยู่ในพื้นที่และทราบปัญหาข้อมูลที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามากกว่าในส่วนกลาง หากส่งข้อมูลมาให้ส่วนกลางตัดสินก็จะไม่ทันการณ์ได้ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ฉับไวและตรงตามสภาพปัญหาที่แท้จริง ต่อเมื่อดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายแล้วจึงรายงานกลับสู่ส่วนกลาง ซึ่งคงจะเป็นสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน (สศร.) |
. |
ซึ่งจะได้แจ้งประสานให้ทุกฝ่ายทราบอีกครั้งหนึ่งว่าทาง สศร.จะมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นศูนย์กลางในการประสานข้อมูลในระดับต่อไป โดยจะสามารถลงพื้นที่ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และในขณะนี้จะเร่งดำเนินการประสานงานระหว่างสมาคมฯ กับกรมการจัดหางานในการออกแบบแบบฟอร์มการกรอกใบสมัครงานในเชิงลึกถึงรายละเอียดข้อมูลที่ชัดเจน มีแรงจูงใจให้แรงงานสนใจ |
. |
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ถกกันถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการที่กลุ่มอุตสาหกรรมฯ ได้ระบุเน้นถึงแต่การใช้แรงงานขั้นพื้นฐาน จึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า ยังมีแรงงานจำนวนมากที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี |
. |
แต่การรับสมัครงาน (recruit) กลับไปเน้นที่คุณวุฒิว่าต้องการแรงงานระดับ (การศึกษา) ขั้นพื้นฐาน จึงควรปรับเปลี่ยนให้มีการยอเลิกการระบุเช่นนี้ แต่พิจารณาการรับแรงงานที่คุณสมบัติที่เหมาะสม และแรงจูงใจด้านค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการที่เหมาะสมมากกว่า เชื่อว่ายังมีแรงงานที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาสูงยังต้องการแรงจูงใจเหล่านี้จำนวนมาก |
. |
ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันขจัดจุดอ่อนเพื่อเข้าถึงการสำรวจแรงงานเหล่านี้ให้พบว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน โดยจะต้องใช้คนเข้าไปสำรวจเหมือนการสำรวจความยากจนของครัวเรือนต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้คนในพื้นที่ที่ทราบข้อมูล มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาอย่างทันสถานการณ์ มีความกระตือรือร้นไม่เฉื่อยชาโดยผู้บริหารต้องกำชับดูแลอย่างเอาจริงเอาจังต่อเรื่องนี้ด้วย |
. |
สำหรับการประชุมครั้งนี้ กองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน กรมการจัดหางาน ได้สำรวจความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 4 ชนิด ได้แก่ เครื่องเรือนไทย เครื่องนุ่งห่มไทย สถาบันยานยนต์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่ามีความต้องการแรงงาน จำนวน 17,614 คน จำแนกเป็นระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา 14,170 คน ปวช.-ปวส. 856 คน ปริญญาตรีขึ้นไป 482 คน และไม่ระบุอีก จำนวน 2,106 คน |
. |
ในขณะที่มีผู้ว่างงานมาขึ้นทะเบียนหางาน ณ กรมการจัดหางาน (มกราคม – กรกฎาคม 2553) จำนวน 230,431 คน เป็นผู้จบปริญญาตรีมากที่สุด 59,097 คน รองลงมาได้แก่ระดับประถมศึกษา 55,014 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 40,863 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 35,975 คน ปวส. 21,079 คน ปวช. – ปวท. 15,345 คน ปริญญาโท 2,106 คน อนุปริญญา 940 คน ปริญญาเอก 12 คน |
. |
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย |