รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมผลักดัน พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ซึ่งจะเข้าสู่ ครม. สัปดาห์นี้ เพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการทำงาน การจัดการความปลอดภัยในการทำงาน และการรณรงค์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน |
. |
วันที่ 9 สิงหาคม 2553 เวลา 15.30 น. ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับนายกสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และคณะ ในการเข้าพบและขอทราบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งนายเฉลิมชัยฯ กล่าวว่า ตนเองพร้อมจะสนับสนุนให้มี พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีว-อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ซึ่งจะเข้าสู่ ครม. สัปดาห์นี้ |
. |
เพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการทำงาน การจัดการความปลอดภัยในการทำงาน การสนับสนุนงานวิชาการ และการรณรงค์เรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เนื่องจากปัญหาผู้ป่วยจากการทำงานเป็นปัญหาที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนของการเข้าไปช่วยเหลือทำได้เป็นรายกรณี ๆ ไป |
. |
อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัจจุบันโรคที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในกลุ่มแรงงานทุกอุตสาหกรรมทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ คือ โรคกล้ามเนื้ออักเสบและ โรคจากสารเคมี นอกจากนี้ยังมีกรณีการตีความคนงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานไม่ใช่การป่วยจากการทำงานทำให้ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย |
. |
ปัจจุบันกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำข้อตกลง MOU ให้มีโรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์ จำนวน ๓๘ แห่ง (คลินิกโรคจากการทำงาน) ในประเทศไทย เพื่อตรวจรักษาโรคการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ โดยผู้แทนของสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยฯ ให้ความเห็นว่า กระทรวงแรงงานควรจะปรับบทบาทการทำงานด้านความปลอดภัยฯ ในเชิงรุกเน้นที่การป้องกันและการส่งเสริม |
. |
ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... สามารถผ่านสภาฯ แล้ว ส่วนหนึ่งก็จะทำให้สถิติการประสบอันตรายของผู้ใช้แรงงานลดน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนของนายจ้าง / สถานประกอบกิจการลดลงด้วย ซึ่งจะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุก ๆ ฝ่าย |
. |
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย |