1. พาณิชย์ฯ ปรับเพิ่มเป้าส่งออกปี 53 ขยายตัวร้อยละ 20 ต่อปี |
- รมว. พาณิชย์ เปิดเผยว่า ก.พาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกปี 53 จากขยายตัวร้อยละ 19 ต่อปี เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 183,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากครึ่งปีหลังกรมส่งเสริมการส่งออกมีแผนการจัดกิจกรรมการตลาดมากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว |
. |
โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย ทั้งอาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตลอดจนภูมิภาคอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเพิ่มตัวเลขส่งออกในบางตลาด เช่น สหรัฐฯ เป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 12 อาเชียนร้อยละ 30 จากเดิมคาดร้อยละ 27 จีนร้อยละ 50 จากเดิมคาดร้อยละ 30 เป็นต้น |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยช่วงครึ่งแรกของปี 53 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 36.6 ต่อปี หรือมีมูลค่ากว่า 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเป้าการส่งออกของทั้งปีอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ในครึ่งหลังของปีการส่งออกสินค้าจะต้องขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 6.6 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจคู่ค้าใหม่ของไทยตลอดจนประเทศอื่นๆในเอเชียขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง |
. |
แต่ภาคการส่งออกของไทยยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ G3 (สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น) ที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด อีกทั้งเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 2 มีสัญญาณชะลอตัวลง ผู้ส่งออกจึงควรป้องกันความเสี่ยงโดยเน้นการกระจายตลาด อนึ่ง สศค.คาดการณ์ว่า ปี 53 นี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 22.5 ต่อปี หรือที่ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 21.5 - 23.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือนมิ.ย. 53) |
. |
2. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 31.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสุดในรอบ 2 ปี นับจาก พ.ค. 2551 |
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 31.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ามากสุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือน พ.ค. 51 โดยค่าเงินบาทขณะนี้ถือว่าแข็งค่าเร็ว แต่ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค ขณะที่ ธปท.พร้อมเข้าดูแลค่าเงินบาทหากมีความจำเป็น นอกจากนี้ ธปท. และ กระทรวงการคลังยังเตือนผู้ประกอบการให้ปรับตัวเพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการส่งออก |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าปัจจุบันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากสุดในรอบ 2 ปี แต่เป็นการแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินภูมิภาค ส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศคู่ค้าอื่นมากนัก โดยล่าสุดดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณร้อยละ 0.05 |
. |
โดยสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มาจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดยังมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุน (Risk Appetite) ในภูมิภาค ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยของปี 2553 (ณ เดือนมิ.ย.53) จะอยู่ที่ 31.5-33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ |
. |
3. ยอดส่งออกไต้หวันเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่เก้า |
- กระทรวงการคลังไต้หวันเปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเดือนก.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 38.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 34.1 ต่อปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยอุปสงค์ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศเอเชียเป็นหลัก โดยเฉพาะในสินค้าประเภทไมโครชิพส์และคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ยอดการส่งออกดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ร้อยละ 31.0 ต่อปี ขณะที่การนำเข้าขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 42.7 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนก.ค. 53 เกินดุลอยู่ที่ 2.16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวในภาคการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของ GDP บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของไต้หวันในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ จะยังคงสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 13.3 ต่อปี นอกจากนี้ การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีของไต้หวันคาดว่าจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปไต้หวันได้เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่การส่งออกสินค้าจากไทยไปไต้หวันมีสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 14 ของไทย |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |