อินเดีย เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งวิทยาการความรู้ด้านไอทีแล้ว ทรัพยากรมนุษย์ของอินเดียก็นับได้ว่ามีความสามารถไม่แพ้ชาวจีนหรือชาวยิวเลยทีเดียว
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ |
. |
. |
ท่องโลกเศรษฐกิจ เดือนนี้ ผู้เขียนขออนุญาตพาท่านผู้อ่านเดินทางไปเยือน อินเดีย มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตครับ อินเดีย เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจไม่น้อยนะครับเพราะนอกจากจะเป็นแหล่งวิทยาการความรู้ด้านไอทีแล้ว ทรัพยากรมนุษย์ของอินเดียก็นับได้ว่ามีความสามารถไม่แพ้ชาวจีนหรือชาวยิวเลยทีเดียวครับ |
. |
นายจอห์น วิลเลียมสัน (John Williamson), นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันผู้ให้คำจำกัดความคำว่า Washington Consensus ได้เขียนถึงอินเดียยุคใหม่ในบทความชื่อ The Rise of the Indian Economy โดยวิลเลียมสันชี้ให้เห็นความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจอินเดียนับตั้งแต่อินเดียเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 90 |
. |
อินเดียกับการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง |
หลังจากอินเดียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์จากอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1947 แล้ว ท่าน มหาตมะคานธี (Mohandas Gandhi) และ เยาวหราล เนรูห์ (Jawaharlal Nehru) ได้ร่วมกันวางรากฐานการพัฒนาอินเดียอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคานธีนั้นต้องการเห็นอินเดียพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อนจากจุดแข็งในภาคเกษตรกรรมและเน้นเป้าหมายไปที่การแก้ปัญหาความยากจนตลอดจนสร้างสวัสดิการสังคมให้ทั่วถึง |
. |
มหาตมะคานธี |
. |
อย่างไรก็ตาม เศรษฐศาสตร์แบบคานธี ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของยุคสมัยแห่งการพัฒนาได้เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมนั้นพยายามจะเลือกใช้ระบบเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับตนเองโดยมีทางเลือกที่จะเดินตาม ทุนนิยมตลาด ภายใต้ข้อเสนอแนะของธนาคารโลกหรือจะเลือกเดินตามรอยระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางแบบสหภาพโซเวียต |
. |
สำหรับอินเดียแล้ว เนรูห์ (Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกเลือกที่จะเดินตามรอยสหภาพโซเวียต ซึ่งเน้น “บทบาทของภาครัฐ” เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดีย บทบาทดังกล่าวสะท้อนออกมาในรูปของ “การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง” (Planning Commission) ตลอดจนแทรกแซงภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ซึ่งอินเดียมีการวางแผนเศรษฐกิจ 5 ปีคล้ายคลึงกับโซเวียต ดังนั้นนับตั้งแต่ ค.ศ. 1947 จนกระทั่ง ค.ศ. 1990 นั้น รัฐบาลคือผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียหรือรู้จักกันในนาม License Raj |
. |
ชื่อของ “License Raj” นั้นมาจากแนวคิดของปัญญาชนอินเดียนามว่า Chakravarthi Rajagopalachar ครับ ซึ่ง Rajagopalachar เชื่อว่ารัฐนั้นควรแสดงบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจแม้ว่าการแทรกแซงดังกล่าวจะเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นตามมา แต่การคอร์รัปชั่นนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว Rajagopalachar มองว่า คอร์รัปชั่นจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจอินเดียสามารถขับเคลื่อนไปได้เปรียบเสมือนการหยอดน้ำมันหล่อลื่นเข้าไปในกลไกเศรษฐกิจ |
. |
ดังนั้นหากธุรกิจเอกชนใดก็ตามที่อยากจะลงทุนค้าขายจำต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจกับรัฐบาลอินเดียเสียก่อน ด้วยเหตุนี้เองอำนาจในการออกใบอนุญาตจึงเป็นแหล่งแสวงหาสินบนของเหล่าข้าราชการอินเดียตลอดเวลาสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา |
. |
เยาวหราล เนรูห์ (คนซ้ายสุด) |
. |
ทศวรรษที่เก้าสิบ: เมื่ออินเดียเหยียบกระแสธารแห่งโลกาภิวัฒน์ |
ตลอดระยะเวลาสี่สิบกว่าปีที่รัฐบาลอินเดียเป็นหัวขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเน้นการวางแผนจากส่วนกลางนั้น ทำให้พัฒนาการเศรษฐกิจของอินเดียดูจะเดินไปอย่างเชื่องช้า ขณะเดียวกันระบบ “License Raj” นั้นก็ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลฉ้อฉลกันอย่างสนุกสนานจนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตได้ไม่เต็มที่ |
. |
อย่างไรก็ดีเมื่อเริ่มต้นทศวรรษที่ 90 มีปัจจัยอยู่สองประการที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียพลิกโฉมครั้งสำคัญ ปัจจัยประการแรกมาจากวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศที่บีบให้รัฐบาลจำเป็นต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้งโดยเฉพาะในเรื่องการแทรกแซงกลไกตลาด |
. |
ขณะที่ปัจจัยประการที่สองคือ ปัจจัยภายนอกประเทศที่กระแสธารแห่งโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกล้วนต้องปรับตัวตามซึ่งกระแสการเปิดเสรีทางการเงินหรือ Financial Liberalization คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดการเงินระหว่างประเทศตลอดจนการค้าการลงทุนเชื่อมโยงกันมากขึ้น |
. |
ในปี ค.ศ.1991 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียอย่างแท้จริงครับ เมื่อนายกรัฐมนตรี นาราสิมหา ราว (Narasimha Rao) ได้นำระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดีย ทั้งนี้ “ราว” ได้สานต่องานของ ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) นายกรัฐมนตรีคนก่อนที่ถูกลอบสังหาร โดยในช่วงปลายทศวรรษที่แปดสิบนั้น ราจีฟ คานธี ได้พยายามลดการควบคุมเรื่องราคาสินค้า ลดภาษีสร้างแรงจูงใจในการลงทุนรวมถึงผ่อนคลายกฎระเบียบในเรื่องการค้าการลงทุนรวมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต |
. |
สองนายกรัฐมนตรีผู้มีส่วนนำพาอินเดียก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจ |
. |
อย่างไรก็ตามคนที่มีบทบาทมากที่สุดในการผลักดันตลาดเสรีให้เกิดขึ้นได้ในสมัยรัฐบาล “นาราสิมหา ราว” คือ ดร.มาโมฮาน ซิงห์ (Mamohan Singh) ครับ ดร.ซิงห์ คนนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของอินเดีย อีกทั้งยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาล “นาราสิมหา ราว” อีกด้วย |
. |
ดร.ซิงห์ ได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปตลาดเงิน ตลาดทุนของอินเดียโดยเฉพาะการผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่เอื้อต่อการระดมเม็ดเงินลงทุน ส่งเสริมให้มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศโดยยกเลิกกฎระเบียบที่หยุมหยิมอีกทั้งใช้กลไกราคาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ |
. |
ขณะเดียวกันยังได้ลดการขาดดุลทางการคลังที่มีมาอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนให้เห็นการลดขนาดของรัฐบาลลงมา พร้อมกันนี้ยังได้ลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้า (Tariff) ลงจากร้อยละ 85 เหลือเพียงร้อยละ 25 เพื่อสะดวกต่อการทำการค้าระหว่างประเทศในอนาคต |
. |
แต่สิ่งที่ดูจะกลายเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียในทศวรรษที่เก้าสิบ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการสร้างบุคลากรด้านไอทีเก่ง ๆ โดยใช้เมือง บังกะลอร์ (Bangalore) เป็นฐานที่มั่นในการพัฒนาจนกล่าวได้ว่า “บังกะลอร์ คือ ซิลิคอนวัลเลย์แห่งที่สอง” เลยทีเดียวครับ |
. |
ดร.มาโมฮาน ซิงห์ |
. |
อินเดียวันนี้: ก้าวต่อไปสู่มหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ |
ผู้เขียนมองว่าอินเดียมีทรัพยากรที่เหลือเฟือในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพยากรมนุษย์ ครับ “อินเดีย” เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจาก “จีน” ข้อดีของการมีประชากรมาก คือ ทำให้มีแรงงานอันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญเพิ่มมากตามไปด้วย |
. |
อย่างไรก็ตาม “ปัญหาความยากจน” ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลอินเดียยังแก้ไม่ตกครับ แม้ว่าระบบตลาดเสรีนั้นจะสร้างความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับอินเดียอย่างมากก็ตาม แต่ในแง่การกระจายรายได้แล้วดูจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย |
. |
ทุกวันนี้รัฐบาลอินเดียพยายามสร้างประเทศภายใต้แนวคิด Knowledge Base Economy หรือเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ดังจะเห็นได้จากวิสัยทัศน์ในการสร้างเมืองบังกะลอร์ให้กลายเป็นเมืองไอทีที่สำคัญของโลก กล่าวกันว่าวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ดัง ๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียครับ |
. |
ปี ค.ศ. 2007 นิตยสาร Forbes ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกหรือรู้จักกันในชื่อ Forbes Global 2000 นั้น ปรากฏว่ามีบริษัทอินเดียติดอันดับถึง 34 แห่ง โดย Oil and Natural Gas Corporation หรือ ONGC ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันขนาดใหญ่ติดอันดับ 239 ของโลกโดยมีมูลค่าตลาด (Market Value) สูงถึง 38.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจาก ONGC แล้วมีบริษัทสายพันธุ์ภารตะชื่อดังอย่าง TATA Steel ก็ติดอันดับใน Forbes Global 2000 ด้วย |
. |
สองบริษัทยักษ์ใหญ่พะยี่ห้อดินแดนภารตะที่ติดอันดับ Forbes Global 2000 |
. |
ความแตกต่างระหว่างอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ปากีสถาน บังคลาเทศ และศรีลังกา นั้นอยู่ที่ทรัพยากรภายในประเทศ จริงอยู่ที่อินเดียนั้นมีดินแดนกว้างใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้านแต่ประจักษ์พยานแห่งการพัฒนาชี้ให้เห็นแล้วว่าทรัพยากรมนุษย์ของอินเดียนั้นก้าวไปไกลกว่าประเทศเหล่านี้หลายขุมนักอนาคต อีกทั้ง “วิสัยทัศน์”ของผู้นำประเทศอย่าง ราจีฟ คานธี, นาราสิมหา ราว และ มาโมฮาน ซิงห์ ก็นับว่ายาวไกลกว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำในแถบเอเชียใต้ด้วยกัน |
. |
ทุกวันนี้ ดร.ซิงห์ พยายามสร้างตัวแทนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียต่อไปในวันข้างหน้าโดยคาดหมายกันว่า ดร.ซิงห์จะส่งไม้ต่อให้ นาย Palaniappan Chidambaram เป็นหัวหอกในการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดีย กล่าวกันว่า Chidambaram คนนี้เป็นกูรูด้านการลงทุนทางการเงินระดับโลกเลยทีเดียวครับ |
. |
Chidambaram |
. |
เหลียวหลังแลหน้ามองเศรษฐกิจไทย |
การปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียในทศวรรษที่ 90 นั้นนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้อินเดียทะยานสู่มหาอำนาจใหม่ในอนาคต หัวใจสำคัญของการปฏิรูปนั้นอยู่ที่การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เคยมีมากมายจนไม่สามารถเอื้อต่อการค้าการลงทุน |
. |
สิ่งที่ประเทศของเราควรจะเรียนรู้จากการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดีย คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทางด้านไอทีซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาอินเดียใหม่ ทุกวันนี้อินเดียชูธงในเรื่องการพัฒนาไอทีจนแทบจะล้ำหน้าต้นตำรับอย่างอเมริกาไปแล้ว |
. |
นอกจากนี้การร่วมมือกับจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจแถบภูมิภาคเอเชีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Chindia” นั้น ยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศมีความน่าเกรงขามมากขึ้นไปอีก |
. |
สำหรับประเทศไทยแล้ว, การคบอินเดียในฐานะมหามิตรทางการค้าน่าจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศได้ไม่น้อยนะครับเพราะเราเองก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโลกตะวันตกไปเสียทุกด้านใช่มั๊ยครับ … แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ |
. |
เอกสารประกอบการเขียน |
1. เนื้อหาและภาพประกอบจาก www.wikipedia.org 2. The rise of India, John Williamson, Foreign Policy Research Inst., Philadelphia, PA. www.fpri.org. |